Tumgik
spurofmoment · 6 years
Text
2017
ผ่านไปทุกปีก็กึ่งบ่นกึ่งตั้งข้อสังเกตทุกปีว่า ปีที่ผ่านมานั้น อะไรหลาย ๆ อย่างมันก็เปลี่ยนไปซะหมด มองกลับไปปีที่แล้วก็เหมือนงูหันกลับไปมองเปลือกของตัวเองหลังลอกคราบ ผ่านวันที่ 31 ธันวาก็พูดได้เต็มปาก
“ฉันเป็นคนใหม่”
เพราะความไม่แน่นอนของชีวิตมันเก็บเอาคราบเก่า ตัวเราในปีเก่าไว้
แต่ปีนี้ไม่ใช่อย่างงั้น
ถ้าเอาตัวเราในแต่ละวันของปีนี้มาปนกันก็คงจะจับเรียงไม่ถูกว่าชิ้นไหนคือตัวเราตอนต้นปี กลางปี ปลายปี ก็ดีแล้วมั้ง ไม่รู้ดิ ส่วนนึงมันก็เหมือนกับว่าเราเริ่ม plateau แล้ว เริ่มน่าเบื่อ หรืออาจจะเป็น calm before the storm ก็ได้ถ้าอยากดราม่า
เราเลือกที่จะเชื่อว่าอะไร ๆ มันลงล็อก
เอาจริงนะ 2017 เป็นปีแรกในรอบประมาณ 7 ปีที่เราไม่เปลี่ยนที่อยู่ ดูมีที่ซุกหัวนอนเป็นหลักเป็นแหล่งดี
ซึ่งก็มีข้อดีคือมันมีพลังงานเหลือมาจับจ่ายใช้สอย ปีนี้เป็นปีที่ conviction สูงดี มีเป้าหมายแล้วตั้งใจทำตาม เราใช้แอปนี้คอยจดบันทึกสิ่งที่ควรจะทำ ที่อยากให้ตัวเองทำจนติดเป็นนิสัย ในแอปมีแค่สองรายการ หนึ่งคือฝึกภาษา ก็ฝึกมาทุกวันหลายเดือนแล้ว
สอง เราเขียนไว้ว่า “Don’t be a human garbage”
ก็คือเป้าหมายในชีวิตเรา อย่าทำตัวเหมือนขยะ
คือออกจากคอมฟอร์ตโซนมั่ง ออกไปเจอโลกภายนอกมั่ง เวลาต้องไปเจอใคร ต้องทำอะไรก็อย่ากังวลมากเกิน อยู่ในที่คนเยอะ ๆ เสียงดัง ๆ ก็ไม่ต้องเวียนหัวคลื่นไส้ก็ได้บางที
พอหมดวันแล้วก็มาเกรดตัวเอง ถ้าพอใจกับตัวเองก็ติ๊ก ถ้าไม่พอใจก็ถอนหายใจนิดนึง แล้วก็บอกตัวเองว่า พรุ่งนี้เอาใหม่
วนไปงี้แหละ ทีละวัน ทีละวัน
Kimmy Schmidt พูดไว้ว่า “You can stand anything for 10 seconds.” 
“Then you just start on a new 10 seconds.”
1 note · View note
spurofmoment · 6 years
Text
ซีรีส์ที่ดูช่วงนี้
ช่วงเดือนสองเดือนที่ผ่านมานี้เราไล่ดูซีรีส์ที่ดอง ๆ ไว้เพราะจะยกเลิก Netflix แล้ว (เดี๋ยวอีกสามเดือน Jessica Jones season 2 ออกค่อยกลับมาซบไหล่ Netflix อีกรอบ)
ส่วนใหญ่ (ไม่ทั้งหมด) ก็เป็น Netflix Originals ทั้งนั้น เลยมาเขียนสรุปรวบท้ายปีตามนี้ เย่
Unbreakable Kimmy Schmidt
youtube
Unbreakable Kimmy Schmidt เป็นซีรีส์ที่เพลงเปิดติดหูที่สุดเท่าที่เคยฟังมาแล้ว “They alive, dammit!” ชอบ 555
ชอบนักแสดงหลัก ๆ ชอบ Ellie Kemper ตั้งแต่ The Office พลังงานสูงดี ส่วน Titus ออกตัวแรงไปหน่อย ต้องใช้เวลาทำความเคยชิน ถ้าชินแล้วก็โอเคนะ ส่วน Carol Kane เราชอบมาก ถึงจะฟังแกรู้เรื่องครึ่งไม่รู้เรื่องครึ่ง
ซีรีส์นี้เซ็ตในเมืองนิวยอร์ก แต่ถ่ายทอกออกมาคนละเรื่องกับ How I Met Your Mother หรือพวก Daredevil อะไรงี้เลย ยังกะคนละเมืองกัน เราว่าแปลกดี
จริง ๆ แล้วทั้งซีรีส์ (ตอนนี้มี 4 ซีซั่น) ก็ไม่มีอะไรมาก ไม่มีเนื้อหาหรือแก่นอะไรเท่าไหร่ ดูสนุก ๆ เป็นคอเมดี้พลังงานสูงที่เราดูแล้วไม่ปวดหัว
Bojack Horseman
youtube
“Back in the 90s I was in a very famous TV showwwwww”
Bojack Horseman อาจจะเป็นซีรีส์ที่เราชอบที่สุดในปีนี้ มั้ง
ซีรีส์นี้ได้ชื่อเล่นว่า The Sad Horse Show ซึ่งก็ตรงเผงมาก ทั้งเรื่องโฟกัสอยู่กับความเศร้าของชีวิตของตัวละครหลัก ความเอือมระอาต่อโลกภายนอก ความไร้ค่าของชีวิตแต่ก็เสียดายที่ได้ทิ้งมันไป
การทำชีวิตตัวเองพังจนสายเกินแก้
เราอาจจะไม่ได้อินกับการกระทำของตัวละครต่าง ๆ โดยตรง เราไม่อินกับอาการติดเหล้าของ Bojack หรือการเป็นเซเลบตกอับ แต่อารมณ์โดยรวมของซีรีส์มันเหมือนเป็นความเศร้าแบบสกัดเข้มข้น หลาย ๆ ตอนดูแล้วจุกเหมือนกัน
ปล. หงุดหงิด Netflix ตรงที่เราไม่ชอบเพลงเปิด แต่ต้องเอื้อมมือไปกด skip intro ตลอด แต่ตอนเพลงปิดเราอยากฟัง ดัน skip ให้อัตโนมัติ ฮึ่ย
Don’t Trust the B---- in Apartment 23
เสียดายซีรีส์นี้โดนแคนเซิล จะหาเทรลเลอร์ยังไม่มีเลย ฮือ
Don’t Trust the B คือจัญไรมาก ตัวเอก (Chloe เล่นโดน Kristen Ritter) เสื่อมมาก ส่วน James Van Der Beek เล่นเป็นตัวเอง สองคนนี้เข้ากันสุด ส่วน Eric Andre แสดงเป็น... คนธรรมดา (อันนี้เซอร์ไพรส์สุดละ 555)
เป็นซิทคอมไร้สาระแหละ แต่ไปดูเถอะ สนุก
The Punisher
youtube
บางที Iron Fist, The Defenders กับ Inhumans ก็ทำให้เราลืมไปว่ามาร์เวลก็ทำซีรีส์ดี ๆ เป็นเหมือนกัน
The Punisher นี่ตามแผนแล้วเป็นแค่ตัวละครสมทบใน Daredevil Season 2 แต่กระแสตอบรับดีจนได้ซีรีส์เป็นของตัวเอง
ซีรีส์นี้เราว่าดีที่สุดในบรรดาซีรีส์ Marvel Netflix แล้วอะ เราว่าเป็นที่หนึ่งเสมอกับ Daredevil ซีซั่นแรกเลย สนุกตั้งแต่ต้นจนจบไม่เอื่อยช่วงกลางเหมือน Jessica Jones ไม่ตกม้าตายเหมือน Luke Cage หรือ Defenders
แถมแทบจะไม่เกี่ยวข้องกับ MCU เลย ไม่เคยดูซีรีส์อื่นก็ดูนี้ได้
Master of None
youtube
Master of None คือซีรีส์แนว mumblecore ที่มี budget สูงหน่อย
ซีรีส์นี้ไม่มีพล็อตอะไรมาก แต่ละตอนจะพูดถึงธีมต่าง ๆ อย่างครอบครัว ชีวิตในวัย 30 ไปจนถึงการเหยียดเพศ ความแตกต่างระหว่างครอบครัวอินเดีย ครอบครัวคนผิวขาว ครอบครัวจีน
เป็นการพูดถึงในโทนเบา ๆ ไม่รู้สึกว่า preachy หรือต้องการจะดัน agenda อะไร เหมือนเป็นการมองโลกผ่านสายตาของ Aziz Ansari (Aziz เป็นคนเขียนบท กำกับเองแสดงเอง)
มีตอนนึงเล่าถึงชีวิตของคนหูหนวก แทบทั้งตอนไม่มีเสียงเลย เงียบสนิท กล้ามาก ชอบ
The Good Place
youtube
The Good Place สร้างโดย Mike Schur ผู้สร้าง The Office และ Parks and Rec (ทั้งสองซีรีส์สำหรับเรานี่คือขึ้นหิ้งแล้ว ดูได้ไม่เบื่อ)
เป็นซีรีส์ตลกที่แฝงทฤษฎีจริยธรรมไว้เยอะแยะ บางทีก็ name drop เฉย ๆ บางทีก็อธิบายทฤษฎีนั้น ๆ อย่างที่รู้จักกันดีก็ trolley problem ที่ในซีรีส์นี้ก็เอามาเล่นด้วย มีการเอาประโยชน์นิยม (? แปลจาก utilitarianism) มาเล่น เออก็เข้าท่าดี
ถ้าใครจะดูซีรีส์นี้แนะนำว่า ไปดูเลย อย่าอ่านโครงเรื่อง อย่าอ่านสปอยล์ เชื่อเรา
ส่วนด้านล่างนี่คือซีรีส์ที่ดูไปนิดเดียว แต่ก็ยังอยากพูดถึงอยู่ดี
Crazy Ex Girlfriend
ซีรีส์กึ่งมิวสิคัล ได้ยินมาว่าเป็นซีรีส์ของ CW ที่ดีที่สุด ตลกที่สุด ก็เลยลองดู
ก็เออ โอเคนะ ดูไปแค่สองตอน แต่อยากดูต่อละ บ้า ๆ บอ ๆ ดี
Friends from College
ซีรีส์รวมดารา
แต่ไหงรวมมาแล้วเจื่อยขนาดนี้
คือตลกเฉื่อย ๆ จะไม่ว่าเลยนะ เพราะ Master of None ก็เฉื่อย แต่เราก็ยังชอบ อันนี้คือเหมือนจะดราม่าก็ไม่ใช่ จะตลกก็ไม่เชิง นั่งฟังคนเถียงกัน อืม
iZombie
อีกหนึ่งซีรีส์ของ CW เวลามีคนถามว่า “ซีรีส์ไหนดีแต่คนไม่ดูเพราะตั้งชื่อไม่ดี” ก็จะมีคนตอบว่า iZombie กับ Crazy Ex Girlfriend นี่แหละ
เป็นซีรีส์เกี่ยวกับซอมบี้ที่กินสมองคน แล้วเข้าไปในความทรงจำของคน ๆ นั้นเพื่อไขคดีฆาตกรรม น่าสนใจ ๆ คงได้ดูต่อ
---
แค่นี้แหละ มาแนะนำซีรีส์เฉย ๆ 
Happy Holidays ครับ
1 note · View note
spurofmoment · 7 years
Text
จูลส์ (๑)
"โพสต์อิทใบนั้นน่ะเหรอ ฉันเองก็ลืมไปแล้ว น่าจะตั้งแต่ต้นธันวาปีที่แล้วมั้ง น่าจะใช่ อ้อใช่ ฉันจำได้ว่าเพิ่งกลับมาจากดินเนอร์กับอเล็กซ์กับคริส ร้านหรูใช่ย่อย ตรง 43rd & 9th น่ะ เราคุยกันเรื่องแผนในช่วงปีใหม่ ฉันจำได้ว่ารู้สึกขยะแขยงกับความขี้อวดของสองคนนั้น ฉันก็เบื่อพวกนั้นตลอดแหละ แต่วันนั้นดูจะมากเป็นพิเศษ 'ฉันกับคริสจะไปเคานท์ดาวน์ที่มาดริดแหละ ฉันสัญญากับตัวเองไว้ว่าจะไปเที่ยวให้มากขึ้น เราน่ะมัวแต่อยู่ในที่เดิม ๆ ไม่ได้หรอก ไม่งั้นรู้ตัวอีกทีก็จะกลายเป็นคนแก่ที่เต็มไปด้วยความเสียดาย ฉันไม่อยากเป็นอย่างงั้น' ไปเที่ยวให้มากขึ้น ปณิธานประสาอะไร โอ้ ฉันสัญญาว่าจะกินช็อกโกแลตให้มากขึ้นนะ ฉันสัญญาว่าจะซื้อเสื้อผ้ามากขึ้น เบื่อพวกนั้นจริง ๆ
"แต่ก็นั่นแหละ อย่างน้อยตอนกลับมาฉันก็มีแรงจูงใจให้หยิบโพสต์อิทมาปึกนึงแล้วเขียนปณิธานปีใหม่ลงไป อย่างใบนั้นไง สมัครเรียนโยคะ ทายซิใครมีนัดกับเกร็กทุกวันอังคารกับพฤหัส ฮ่า ๆ ส่วนใบนั้นอาจจะฟังดูงงนิดหน่อย มันเกี่ยวกับงานน่ะ คำว่า 'ลาออก' ไม่ควรจะมาอยู่บนกระดานปณิธานปีใหม่ใช่มั้ยล่ะ นั่นแหละ ฉันอยากจะลาออกมาเปิดเอเยนซี่ของตัวเอง ฉันรู้ว่ามันยังอีกไกล แต่การเขียนแผนระยะยาวลงในนี้ก็มีข้อดีเหมือนกันนะ ฉันเองก็อยากจะท้าทายตัวเองบ้าง อย่างน้อยก็ไม่อยากให้กระดานนี้เป็นแค่ทูดูลิสต์ที่จะทำทุกอย่างเสร็จภายในเดือนกุมภาหรืออะไรอย่างนั้น
"โอเค ฉันรู้ ฉันรู้ว่ามันคลิเช่ เฮ้ข่าวด่วน พบมิลเลนเนี���ลคนหนึ่งไม่อยากทำงานกับ 'บริษัท' ริอยากจะออกมาเสี่ยงดวง เด็กสมัยนี้ไม่รู้จักหางานที่มั่นคง บลา ๆ ๆ ฉันว่าก็คลิเช่แล้วจะทำไม มันเป็นสิ่งที่ฉันอยากทำ ถ้าการทำตามความฝันมันผิด ฉันก็ไม่อยากถูก อะไรประมาณนั้น เข้าใจใช่มั้ย นี่รู้มั้ยว่าตั้งแต่ความคิดอยากลาออกวนเวียนอยู่ในหัว ทุกอย่างในออฟฟิศก็ดูแย่ไปซะหมด ฉันเริ่มรำคาญไฟบนเพดานที่มันกระพริบแล้วไม่มีใครมาซ่อมซักที ทั้งที่มันก็กระพริบอย่างงั้นมาเป็นปีแล้ว ฉันเริ่มรำคาญคนขายโดนัทหน้าตึกที่มองฉันด้วยสายตาแปลก ๆ ทุกวัน ฉันเริ่มรำคาญแคลลี่ที่แก้ดราฟต์ช้าตลอด แต่ฉันก็ได้แต่บอกกับตัวเองว่า ซักวัน ซักวัน
"ฟังดูเหมือนฉันทำงานในนรกใช่มั้ย ไม่หรอก ไม่เลย ฉันรักงานนี้ นี่ไงฉันถึงกับเขียนลงในโพสต์อิทใบนี้ว่าโฟกัสกับงานมากขึ้น ซึ่งฉันก็เพิ่งเห็นว่ามันขัดกับโพสต์อิทใบที่แล้ว อืม นั่นแหละ อย่างน้อยถ้าตั้งใจทำงานมาก ๆ ก็อาจจะลืมไอ้โง่เกร็กนั่นไปได้บ้าง คนอะไรเผชิญหน้าไม่เป็น ทะเลาะกันนิดเดียวถึงกับหนีไปอีกซีกโลก ฉัน— อะไรนะ อ๋อ ไม่ใช่ คนละคนกับครูสอนโยคะ ฉันอาจจะพูดให้งงไปนิดนึง ขอโทษที
"เมื่อกี้ฉันกำลังพูดถึงอะไรนะ อ๋อใช่ บางทีฉันก็อยากจะมีช่วงนึงในชีวิตที่บ้างานบ้างน่ะ เข้าใจใช่มั้ย แบบมุดหัวจมอยู่กับงานแล้วพอโงหัวขึ้นมาอีกที อะไร ๆ อาจจะดีขึ้น ไม่รู้สิ หวังว่านะ เฮ้ ดูนี่สิ โพสต์อิทใบนี้เขียนว่า 'ลองมองโลกในแง่บวกบ้าง ไม่เจ็บหรอก' "
1 note · View note
spurofmoment · 7 years
Text
Suddenly, Soravit.
เมื่อประมาณสองปีที่แล้วเราบ่นว่าตัวเองเป็นคนชอบแบ่งหมวดหมู่ คอนเทนต์แบบนี้ต้องลงที่นี่ รูปวาดต้องลงบล็อกนี้ ถ้าเขียนเกี่ยวกับหนังก็ต้องแบ่งอีก เขียนคร่าว ๆ อินเนอร์ ๆ ก็ลงไว้ที่นี่ ถ้าเขียนจริงจังหน่อยก็จะเอาไปลง minimore ไรงี้
เราจบโพสนั้นด้วยคำสรุปที่ว่า ถ้านึกอะไรได้เราก็จะเอามาลงที่นี่แหละ มารวมไว้ที่เดียวกัน ไม่ต้องแบ่งอะไรมาก ช่างมัน
อือ เปลี่ยนใจละ
ถ้าเข้ามาแล้วไม่ทันสังเกต url หรือจะอ่านโพสนี้ผ่านแอปของ Tumblr หรืออะไรก็ตาม บล็อกนี้ย้ายบ้านแล้ว! ย้ายมาอยู่ที่ suddenly.sorav.it แหละ เย้
ประเด็นคือเราเพิ่งเปิดตัวเว็บเราไป (ยังไม่หายเห่อเลย) ที่วางแผนไว้คือ อะไรที่เขียนจริง ๆ จัง ๆ จะเอาไปลงที่ sorav.it/rambled-about ส่วนบล็อกอยู่อยู่ก็นี้ก็จะกลับไปเป็นพวกไอเดียดิบ ๆ เหมือนเดิม
...มั้ง? เอาเข้าจริงก็คงปน ๆ กันไปแหละ เดี๋ยวมีอะไรจะโพส ถึงตอนนั้นเราก็คงรู้เองว่าจะโพสที่ไหน
มาบอกแค่นี้แหละ ไปเล่น Hollow Knight ต่อละ
0 notes
spurofmoment · 7 years
Text
สิ่งที่นึกได้ตอนดู La La Land
Tumblr media
0. โพสนี้มีสปอยล์เลอร์เต็มเรื่องน้อ ถ้าใครยังไม่ได้ดูก็อ่านเวอร์ชั่นไม่มีสปอยล์ (และเรียบเรียงได้เป็นผู้เป็นคนกว่านี้หน่อย) ได้ที่นี่ เย่
1. เพลง City of Stars ติดหูมาก เดินออกจากโรงจนกลับมาถึงบ้านแล้วยังยังหึ่มฮืมฮืมฮื้มอยู่เลย
2. เรื่องนี้คืออยากดูมาตั้งแต่กันยาแล้วอะ พอได้ข่าวว่าผู้กำกับเดียวกับ Whiplash นี่คือแบบ โอเค sold.
3. ดิ อเมซซิ่ง เอมม่า สโตน
4. หนังภาพสวยมากกกก โดยเฉพาะสี สีเสื้อผ้า สีฉากหลัง มันตัดกันโช๊ะเช๊ะ ชุดน้ำเงินพื้นหลังแดงงี้ ชุดม่วงพื้นหลังเขียวงี้ ชุดเหลืองพื้นหลังน้ำเงินงี้ มีคนบอกว่าสีชุดเปลี่ยนไปตามฤดู อันนี้เราไม่ทันสังเกตแฮะ
5. พูดถึงภาพ ฉากในหอดูดาวที่เต้นรำในอวกาศเราว่ามันชีสไปหน่อย เลี่ยน ไม่ค่อยเข้ากับ art direction อื่นในเรื่อง ที่เป็นเงา silhouette มีฉากนั้นกับตอนใกล้จบ ซึ่งมันแปร่ง ๆ ทั้งสองตอน
6. แต่ฉาก abstract อื่น ๆ เราชอบนะ ยิ่ง montage ตอนจบนี่ยิ่ง หูย ชอบฉากแบบ what if แบบนี้อยู่แล้วด้วย เหมือนฉาก expectation vs reality ใน 500 Days of Summer อะ มันคือความหวานขม
7. เห็นหลาย ๆ ฉากที่ pay homage ถึงสไตล์หนังเก่า ๆ อย่าง iris fade (เอฟเฟกต์ที่เป็นวงเหมือนตอนจบทอมแอนด์เจอร์รี่อะ) หรือไม่ก็การ cross fade ยาว ๆ มีฉากนึง cross fade ประมาณสิบวิได้ ฉากที่ overlay พวกแชมเปญเข้าไปในช็อตงานปาร์ตี้ก็วินเทจมาก ชอบ
8. แต่ whip pan ดูในโรงแล้วปวดตา...
9. เพลง เพลงเพราะะะะ ชอบตั้งแต่เพลงเปิดเรื่องละ มันมิวสิคั๊ลมิวสิคัล อยู่ดี ๆ ก็ break into a song เงี้ย จริง ๆ คือชอบทุกเพลงเลย แต่ชอบสุดก็นั่นแหละ City of Stars (ตอนเขียนนี่ลูป Late for the Date อยู่) ตอนที่เต้นในที่จอดรถอะ โว่ยย เท่ ชอบฉากนั้นมากสุดในเรื่องละ choreography เท่มาก เทคเดียวอีก
10. เคมีของ Emma Stone กับ Ryan Gosling เข้ากันดีมาก ตอนเราดู Crazy Stupid Love ยังรู้สึกไม่เข้ากันเท่านี้เลย
11.  ดิ อเมซซิ่ง เอมม่า สโตน
12. ตอนที่สองคนทะเลาะกัน Ryan Gosling เริ่มมีคาแรกเตอร์เดียวกับใน Blue Valentine โผล่ออกมา ซึ่งเราเคยบอกไปว่าเราโคตรเกลียด ไม่ใช่แสดงไม่ดีนะ แค่ไม่ชอบนิสัยแบบนี้ ฮ่า ๆ
13. เราว่าเรื่องนี้อาจจะขึ้นหิ้งแหละ อาจจะได้ขุดมาดูนาน ๆ ที (นาน ๆ ขุดมาดูทีนี่คือสเตตัสสูงสุดที่เรามอบให้หนังละ)
14. It’s another day of sun!
0 notes
spurofmoment · 7 years
Text
ร้อยหนัง: The Denouement
Tumblr media
กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว เมื่อปี 2016 นู้น เราตั้งปณิธานไว้ว่าจะดูหนังให้ได้ซักร้อยเรื่อง
แล้วนึกยังไงไม่รู้ อยู่ดี ๆ ก็อยากเขียนถึงหนังเหล่านั้น กึ่งเป็นบันทึกช่วยจำว่าเคยดูหนังเรื่องไหนไปบ้าง กึ่งแชร์ความคิดเห็นของเราให้โลกได้รับรู้ จึงเป็นที่มาของโปรเจคร้อยหนัง
สรุปคือ ดีใจที่ดู และดีใจที่เขียน
เราได้อะไรจากร้อยหนังเยอะกว่าที่คิดไว้ เดี๋ยวจะเล่าให้ไม่อ่าน
อย่างแรก เรารู้สึกว่าคลังความรู้เกี่ยวกับหนังมันเต็มขึ้นมาก แต่ก่อนนี่ใครพูดถึงหนังเราจะงง ๆ ไม่เก็ต ไม่เก็ตว่า reference นี้มาจากไหน อยู่ ๆ มีคนพูดว่า “...and don’t call me Shirley” เราก็จะไม่เก็ต แต่ตอนนี้ก็รู้ว่ามาจากหนังเรื่อง Airplane! อะไรงี้ มันจิ๊บจ๊อยนะ แต่ถ้าพูดให้ยิ่งใหญ่เกินจริงก็คือ เราเข้าใจวัฒนธรรมสมัยใหม่มากขึ้น
นอกจากหนังในป๊อบคัลเจอร์แล้ว หนังคลาสสิกที่เป็นศิลปะก็ดูไปหลายเรื่อง (จริง ๆ หนังคลาสสิกหลาย ๆ เรื่องก็เป็นส่วนหนึ่งของป๊อบคัลเจอร์ อย่าง Citizen Kane หรือ Dr. Strangelove ก็ได้ยินคนพูดถึงบ่อย) คือต้องบอกว่าปีนี้เป็นปีที่เราศึกษาเรื่องศิลปะภาพยนต์บ้างในเวลาว่าง เราอ่านหนังสือชื่อ Story โดย Robert McKee (เล่มนี้ถือเป็นคัมภีร์ของนักเขียนบทฮอลลีวูดเลย) ที่พูดถึงการเล่าเรื่อง การจัดโครงสร้าง และอีกเล่มนึงชื่อ Better Living Through Criticism เขียนโดยนักวิจารณ์ A. O. Scott แห่งหนังสือพิมพ์ The New York Times เล่มนี้อ่านไม่จบ แต่เท่าที่อ่านก็มีการพูดถึงความสำคัญของการวิจารณ์และนักวิจารณ์ แล้วก็เลยไปตั้งคำถามว่า บทวิจารณ์เป็นศิลปะโดยตัวของมันเองหรือไม่
แล้วก็อ่านบทวิจารณ์เยอะมาก หนังส่วนใหญ่ หลังจากดูและเขียนถึงแล้ว เราก็ไปหารีวิว หาบทวิจารณ์มาอ่าน ก็ได้ความรู้เรื่องการเล่าเรื่องดีเหมือนกัน ได้รู้ว่าสตอรี่ที่ดีเป็นยังไง ตัวละคร พัฒนาการของตัวละคร จังหวะการเดินเรื่อง
ทั้งหมดนี้มันทำให้เราดูหนังสนุกขึ้น เพราะมันเข้าใจไง มันแยกแยะได้ว่าหนังเรื่องนี้ดี เรื่องนี้เลว เรื่องนี้เฉย ๆ 
พูดง่าย ๆ ว่าดูหนัง “เป็น” ขึ้น
ในเชิงเทคนิกเราก็ได้รู้มากขึ้นเหมือนกัน ทั้งมุมกล้อง เฟรมมิ่ง ช็อตประเภทต่าง ๆ พวกนี้ในยูทูปมีคนเก่ง ๆ มาอธิบายไว้เยอะ (แนะนำ Every Frame a Painting โดยเฉพาะวิดีโอที่พูดถึงเฉินหลง) ไปจนถึงการตัดต่อ วิธีใช้สีในการเล่าเรื่อง (อย่างในวิดีโอนี้ — แชนแนลนี้ก็เนื้อหาดีมากเหมือนกัน)
เนี่ย พอดูหนังเป็นแล้วมันสนุก มันได้คอยมองว่าฉากนี้มันมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง ลึกไปกว่าเรื่องที่ถูกเล่าผ่านบทพูด
ต่อมาคือได้เปิดโลก ได้ดูหนังแนวที่ไม่คิดว่าจะดู อย่างหนังเก่า ๆ ขาวดำเงี้ย หรือหนังอินดี้ ๆ อย่าง The Art of Getting By ที่ดูจบแล้วก็ช้อบชอบ หนังต่างประเทศอย่าง Amélie หรือ Cinema Paradiso ถ้าไม่มีร้อยหนังคงไม่ได้ดู เสียดายแย่
สุดท้ายคือได้เขียน ได้ฝึกเขียนอธิบายความคิดออกมาเป็นประโยค เราคิดว่าเราเขียนได้ดีขึ้นนะ ไม่รู้จริงรึเปล่า อย่างน้อยก็ใช้เวลาเรียบเรียงความคิดน้อยลง ผลคือเขียนอธิบายอะไรได้มากขึ้น อย่างเอาที่เราเขียนเดือนมกรามาเทียบกับธันวาเนี่ย ความยาวผิดกันเลย ส่วนนึงเพราะ — อย่างที่บอก — ดูหนังเป็นขึ้น อีกส่วนนึงเพราะเขียนง่ายขึ้นนี่แหละ
รู้สึกว่าตัวเองพิมพ์เร็วขึ้นด้วย อันนี้โบนัส
จริง ๆ แล้วในลิสต์เรายังมีหนังที่อยากดูอีกหลายเรื่องมาก (ที่บิ๊ก ๆ เลยก็มี Requiem for a Dream กับ 2001: A Space Odyssey ที่ยังไม่ได้ดู) ปีนี้ (2017) คงดูไม่ถึงร้อยเรื่อง แต่ถ้าดูแล้วมีอะไรจะเขียนก็จะมาเขียนไว้ที่นี่แหละ ไม่ตะบี้ตะบันดูแล้ว เมื่อยลูกกะตา
แต่ก็นั่นแหละ ดีที่ได้ดู ดีที่ได้เขียน เย้
0 notes
spurofmoment · 7 years
Text
ร้อยหนัง: ธันวาคม
ร้อยหนังคือปณิธานที่ตั้งไว้ตอนปีใหม่ว่าจะดูหนังให้ครบร้อยเรื่องก่อนสิ้นปี ผ่านไปเดือนนึงก็นึกได้ว่าควรเขียนบันทึกไว้
เราจะไม่สปอยล์ (แต่ถ้าไม่ได้ดูเรื่องนั้น ๆ มาก่อนอาจจะอ่านไม่เข้าใจ) ยกเว้นบางเรื่องซึ่งเราจะเตือนไว้ตัวหนา ๆ ว่ามีสปอยล์เลอร์
อ้อ อ่านร้อยหนังของเดือนก่อน ๆ ได้ที่ spurofmoment.tumblr.com/100
93. The Departed (2006)
Tumblr media
เป็นหนังที่ดูแล้วอิ่มดี
The Departed (หรือถ้าสำเนียงบอสตันก็ The Depahhhted) เป็นหนังเกี่ยวกับสายของตำรวจที่เข้าไปแฝงตัวอยู่ในแก๊งอาชญากร กับอีกคนที่เป็นอาชญากรแฝงตัวอยู่กับตำรวจ
จากพล็อตคร่าว ๆ หนังเรื่องนี้เหมือนกับจะเป็นหนังแอ็คชั่นเพ้อเจ้อเหมือน Face/Off (เพ้อเจ้อไม่ได้แปลว่าไม่ดี แต่เราก็ไม่รู้ว่า Face/Off ดีหรือไม่ดีเพราะไม่เคยดูเหมือนกัน) ที่จะขายยากมากถ้าไม่มีชื่ออย่าง Matt Damon, Leonardo DiCaprio, Jack Nicholson และที่สำคัญ Martin Scorsese ติดอยู่ด้วย
เราเคยดูหนังของ Martin Scorsese อยู่หลายเรื่องเหมือนกัน อย่าง The Aviator, Hugo, The Wolf of Wall Street กับ Shutter Island ประมาณครึ่งเรื่อง โดยทั้งสี่เรื่องนี้เรามารู้ตอนหลังว่า “อ้าว เรื่องนี้สกอร์เซซี่กำกับหรอกเหรอ” ทุกเรื่องเลย – โดยเฉพาะ Hugo เนี่ย มายังไง เรามองสไตล์การทำหนังของ Scorsese ไม่ออก ถ้าแกมีสไตล์ ก็คงจะ subtle เกินสายตาเรา
The Departed อาจจะเป็นหนังอาชญากรรมที่เราชอบที่สุด มีหลายฉากที่ดูไปกัดฟันไป ใจนี่เต้นตึก ๆ อย่างฉาก “I gave you the wrong address, you came to the right one.” โหย จ้องตาไม่กระพริบ
แถมตอนจบของหนังเป็นอะไรที่บ้าบอมาก เหมือนกับหนังบิ๊วขึ้นมาทั้งเรื่อง บิ๊วมาแบบจริงจังเคร่งขรึมเลยนะ แล้วมาปลดปล่อยเอาตอนจบ หักมุมแล้วหักมุมอีกจนมันเหวี่ยงออกมาเป็นความบ้าคลั่งแบบคาดเดาไม่ถูก
เป็นตอนจบที่ค้างเติ่ง แต่ในขณะเดียวกันก็อิ่มดี
94. Cinema Paradiso (1988)
Tumblr media
หนังเรื่องนี้มีคนแนะนำมา (คนเดียวกับที่แนะนำ The Legend of 1900 แหละ สองเรื่องนี้ผู้กำกับคนเดียวกัน)
เรารู้สึกว่า Cinema Paradiso คือคำสารภาพรักของผู้กำกับ Giuseppe Tornatore ที่มีต่อศิลปะของการสร้างหนัง และภาพยนต์โดยรวม เป็นการเล่าเรื่องราวผ่านสายตาของเด็กคนหนึ่งในเมืองชนบทของอิตาลีที่รักประสบการณ์การดูหนัง รักการฉายหนัง และรักหนัง
หนึ่งในธีมใหญ่ ๆ ที่คลุมหนังทั้งเรื่องคือโบรแมนซ์ระหว่างเด็กชาย Toto ผู้รักหนัง และ Alfredo นักฉายหนังในโรงภาพยนต์ Paradiso
เราว่าความสัมพันธ์ของทั้งสองคนนี้ถูกนำเสนอออกมาได้ลึกซึ้งดี Alfredo ผู้มีเปลือกนอกที่แข็งกร้านแต่ใจจริงนั้นอ่อนโยนและเอ็นดู Toto อยู่มากทีเดียว ไดนามิกระหว่างสองคนนี้เราว่าเป็นตัวชูโรงอะ ถ้าขาดคนใดคนนึงไปหนังคงยืนไม่อยู่ ซึ่งแปลว่าดี
แต่ถึงอย่างนั้นหนังทั้งเรื่องก็มีตัวละครที่น่าจดจำ ทั้งคนบ้า “จัตุรัสนี้เป็นของข้าโว้ย” หรือคนรวยที่นั่งอยู่ชั้นบนของโรงหนังแล้วถุยน้ำลายใส่พวกคนจนเบื้องล่าง บาทหลวงที่ทนเห็นฉากจูบในหนังไม่ได้ แล้วพอผ่านไปหลายสิบปี พระเอกที่ย้ายไปอยู่โรม กลับมาแวะบ้านเกิดตัวเองเพื่อพบว่าผู้คนเหล่านั้นก็ยังเหมือนเดิมไม่เปลี่ยน ความรู้สึกนี้มันมีพลังอะ
สิ่งที่เราเห็นว่า Cinema Paradiso และ The Legend of 1900 เหมือนกันอยู่อย่างนึงคือโทนอบอุ่นทั้งเรื่อง เหมือนเป็นนิทานที่มีภาพประกอบ บางครั้งก็สมจริง บางครั้งก็เพ้อฝัน ถ้า The Legend of 1900 คือความรักในเสียงเพลง Cinema Paradiso ก็คือความรักในจอเงิน
95. Bottle Rocket (1996)
Tumblr media
หนังเรื่องแรกของ Wes Anderson (ทุกทีที่เขียนถึงหนัง Wes Anderson เราจะเขียนชื่อ Wes Anderson บ่อยมาก – ต่อจากนี้ขอย่อว่า WA ละกันเนอะ) ในที่สุดเราก็ดูหนังของ WA ครบทุกเรื่อง – จบเควสต์!
Bottle Rocket คือหนังที่มีกลิ่นอินดี้โชยมาแต่ไกล เป็นเรื่องเกี่ยวกับมนุษย์จิตไม่ปกติ (ซึ่งก็ถือว่าปกติตามมาตรฐาน WA) สองคนกับการวางแผนปล้น ไม่ใช่ปล้นธนาคารหรือร้านเพชรอะไรนะ แค่ปล้นร้านหนังสือบ้าง โรงงานเล็ก ๆ บ้าง
แค่พล็อตก็ WA๊ WA แล้วเห็นไหม
เราชอบเรื่องนี้มากโขอยู่ หลังจากที่ช่วงนี้ผิดหวังกับหนัง WA เพราะ The Life Aquatic กับ The Royal Tenenbaums ไม่ค่อยตรงสเปค ชอบตรงที่ Bottle Rocket นั้นตลกแบบบ้าบอ แบบที่ดูแล้วต้องส่ายหัวไปกับความบ๊องของตัวละคร เป็นเอกลักษณ์ของหนัง WA แบบที่เราชอบใน Rushmore
ส่วนภาพเราว่าเรื่องนี้ยังไม่ค่อยเนี้ยบ บางฉากดูไปก็ลืมเลยว่ากำลังดูหนัง WA อยู่ อาจจะเพราะเป็นช็อตแบบ handheld หรืออาจจะเพราะสมมาตรมันไม่ตรงเป๊ะเหมือนในหนังเรื่องหลัง ๆ ของแก แต่ก็พอถูไถ พอเข้าใจได้เพราะเรื่องนี้เป็นเหมือนจุดกำเนิดของสไตล์ WA ไง (ซึ่งสไตล์นี้ก็ดึงแรงบันดาลใจมาจากหนังและผู้กำกับคนอื่นเหมือนกัน เช่นหนังเรื่อง   Les Quatre Cents Coups (อันนี้อ่านเขามา ไม่เคยดูเหมือนกัน)) โดยรวมก็พอมีหลักฐานการวิวัฒนาการของมุมกล้องแบบ WA อยู่บ้าง
ถ้าจะให้จัดอันดับความชอบ ลำดับคงจะเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาตามอารมณ์ แต่ ณ ขณะนี้เราคงจะเรียงประมาณนี้ (จากชอบมากสุดไปน้อยสุด): Rushmore > The Grand Budapest Hotel > Bottle Rocket > Moonrise Kingdom > Fantastic Mr. Fox > The Darjeeling Limited > The Life Aquatic with Steve Zissou > The Royal Tenenbaums
ถือว่าโดยเฉลี่ยเราชอบหนัง WA มากกว่าหนังทั่วไป ที่เฉย ๆ จริง ๆ ก็มีแค่ The Life Aquatic กับ Royal Tenenbaums แค่นั้นแหละ ที่เหลือชอบมาก
96. Austin Powers: International Man of Mystery (1997)
Tumblr media
เรื่องนี้แปลกหน่อย เพราะเรารู้ตั้งแต่ก่อนดูแล้วว่าคงไม่ชอบอะ แต่ดูเพราะมีแชแนลนึงในยูทูบที่เราดู เขา reference เรื่องนี้บ่อยมากจนต้องไปหามาดูว่ามันจะมีอะไรให้ reference กันนักหนา
สรุปคือมันเป็นหนังที่ quotable มาก แทบทุกคำที่ออกจากปากของ Austin Powers (แสดงโดย Mike Myers) เอามาเป็น quote ได้หมด จะว่าไปก็คล้ายกับ Barney Stinson ใน How I Met Your Mother นะ คือพูดอะไรก็เป็น catchphrase ไปซะทั้งนั้น บางทีก็น่ารำคาญ แต่บางทีก็ shagadelic, baby.
แต่นั่นแหละ ส่วนใหญ่จะน่ารำคาญ
ไม่แปลกใจที่หนัง Austin Powers จะเป็น guilty pleasure ของใครหลายคน เพราะเอาเข้าจริง ๆ มันก็ตลกดี ตลกแบบเลอะเทอะและจัญไรในบางตอน... ในหลาย ๆ ตอน
สุดท้ายแล้วเราก็เฉย ๆ แหละ มีฮาบ้าง กลอกตาบ้าง แต่ที่ดีคือดูจบแล้วเก็ตมุกหลาย ๆ มุกที่งงมานาน
97. Forgetting Sarah Marshall (2008)
Tumblr media
Forgetting Sarah Marshall คือหนังที่เราเคยดูตั้งแต่เดือนพฤษภานู่น แต่ดูไม่จบ ถ้าจำไม่ผิดเราให้เหตุผลว่า “หนังแบบนี้” เป็นหนังตลกที่ไม่ถูกจริตเรา วันนี้ไม่รู้คิดอะไรอยู่ถึงลองให้โอกาสมันอีกรอบ
เราว่าจริง ๆ มันก็โอเคนะ ถ้ามองว่าหนังเรื่องนี้คือหนังอกหักที่บาลานซ์ความสมจริงกับความเว่อร์เพื่อให้ตลกได้ดี
ความสมจริงหมายความว่าไง? หมายความว่าตัวละครไม่ใช่แค่ trope ไม่ใช่แค่คลิเช่ซ้ำซาก พระเอกไม่ใช่แค่ nice guy ที่โดนโชคชะตาเล่นงาน ตัวร้ายไม่ใช่อสูรกายที่พยายามจะทำให้พระเอกตกนรกทั้งเป็น Sarah Marshall (เล่นโดย Kristen Bell) อาจจะแสดงออกอย่างนั้น แต่หนังก็มาเฉลยว่าทำไม Sarah ถึงบอกเลิก Peter (เล่นโดย Jason Segel) ส่วนนางเอกก็ไม่ใช่แค่นางฟ้าที่มาลงเอยกับพระเอกตอนท้ายเรื่อง (เท่านั้น) แต่ก็มีความหลัง มีจุดบกพร่อง
หนังต้องการจะบอกว่า ในความรักและการอกหักนั้น ไม่มีผู้แพ้ผู้ชนะ ไม่มีใครเป็นตัวดีตัวร้ายหรอก น้ำเน่าแมะ
เหมือนกับใน How I Met Your Mother (ทำไมพูดถึงอีซีรีส์นี้บ่อยจังพักนี้) ที่ Ted ถาม Robin ว่า “You weren’t trying to win the breakup?” แล้ว Robin ตอบว่า “I was trying to survive it.”
เราไม่ได้ต้องการจะเป็นผู้ชนะ เราต้องการอยู่รอด วรั๊ย
98. The Perks of Being a Wallflower (2012) (Re-watch)
Tumblr media
The Perks of Being a Wallflower คือหนึ่งในหนังที่เราชอบที่สุด ชอบจนต้องกลับมาดูอย่างน้อยปีละครั้ง
เราเคยพูดถึงหนังที่จบสวย vs หนังที่จบไม่สวยไปแล้วตอนเขียนถึง The Art of Getting By สรุปง่าย ๆ คือ เราคิดว่าหนังที่จบไม่สวย คือจบแบบที่ตัวละครไม่พัฒนาไปในทางที่ดีขึ้นนั้นดูจะมีเมตตามากกว่าหนังที่จบแบบแฮปปี้ เพราะถึงตัวละครในเรื่องจะผ่านเหตุการณ์ที่ทำให้ตัวละครนั้น ๆ มีมุมมองต่อโลกเปลี่ยนไป สุดท้ายแล้วพอหนังจบ มุมมองต่อโลกของคนดูก็คงจะเหมือนเดิม นั่นหมายความว่าถ้าคนดู relate กับตัวละครได้ตอนต้นเรื่อง พอหนังจบตัวละครนั้น ๆ ก็จะไม่มีคอนเนคชั่นกับคนดูหลงเหลืออยู่
แฮปปี้เอนดิ้งทำให้ตัวละครทรยศคนดู เราคิดว่างั้น
“ถ้าเราดูหนังแล้วฉากสุดท้ายเป็นภาพของตัวเอกที่มีความสุข พอเครดิตขึ้นแล้วเรามองเห็นตัวเองผ่านเงาสะท้อนของจอ พบว่าตัวเราเองยังอยู่ที่เดิม ชีวิตของเราก็เหมือนเดิม มันเหมือนโดนทอดทิ้งไหม“ นี่ โควตตัวเองซะเลย
เราว่าตอนจบของ The Perks of Being a Wallflower นั้นผสมตอนจบทั้งสองแบบได้อย่างลงตัว คนดูไม่ถูกทอดทิ้ง แต่ในขณะเดียวกันก็ยังมีความหวังทิ้งไว้เป็นหย่อม ๆ และตัวละครก็มีพัฒนาการไปตามเรื่อง อาจจะเพราะตอนจบนี่แหละที่เราชอบหนังเรื่องนี้มากนัก
หรือความชอบหนังเรื่องนี้ก็อาจจะมาจากเหตุผลที่ personal กว่านั้น สารของหนังมันสั่นพ้องกับตัวตนของเราอะ เราคิดว่าเราเป็น wallflower และทุกอย่างในหนังมันก็ดูสมจริงเหลือเกิน เหมือนกับว่ามีส่วนหนึ่งของตัวเราหลุดเข้าไปในนั้น
“He’s a wallflower. You see things. You keep quiet about them. And you understand.”
ฉากที่พระเอกยืนมองคนอื่นเต้นรำเราก็ผ่านมาแล้ว กินข้าวกลางวันคนเดียวตลอดปีก็เคยมาแล้ว สนิทกับครูมากกว่าเพื่อนร่วมชั้นก็เคยแล้วเหมือนกัน เราว่ามันเป็นสารที่เราและอินโทรเวิร์ท (พยายามจะไม่ใช้คำนี้) ทั่วโลกเข้าใจไม่มากก็น้อย
เรามีโควตจากทั้งหนังและหนังสือเรื่องนี้เซฟเก็บไว้เยอะมาก เรารู้สึกกับหนังอย่างที่พระเอกรู้สึกกับเพื่อนทางจดหมาย “[...] you helped me, even if you didn’t know what I was talking about. You made me not feel alone.” อย่างน้อยก็มีคนอื่นที่หงอยเป็นเพื่อนใช่มะ
“And in this moment, I swear, we are infinite.”
99. Love Actually (2003)
Tumblr media
หนังเรื่องนี้อยู่ในลิสต์มาตั้งแต่ต้นปีแล้ว แต่เพราะมันเป็นหนังคริสต์มาส เลยอดใจรอมาเกือบปี รู้สึกว่าดีแล้วที่รอ เพราะหนังเรื่องนี้คริสต์มาสสปิริตสูงมาก
เราว่าหนังหรือเพลงหรืออะไรที่มันคริสต์มาส ๆ มันต้องฟัง/ดูช่วงปลายปีแบบนี้ ไม่งั้นมันจะจืด ๆ จะมาจิงเกิลเบลเดือนเมษาอะไรงี้ก็ไม่ใช่อะ ใช่แมะ
แถมเนื้อเรื่องในหนังนั้นจะอยู่แถว ๆ ลอนดอน ซึ่งจากประสบการณ์ส่วนตัวเรา romanticise มันมาก เราว่าลอนดอนช่วงคริสต์มาสเป็นอะไรที่สวยงามอะ มันหนาว มันมีแสงไฟ มันมีผู้คน มันมีสปิริต
มันต้องมนต์
และหนังก็ถ่ายทอดมนต์เสน่ห์นั้นออกมาได้อย่างอบอุ่น หลาย ๆ ฉากมีแลนด์มาร์กของอังกฤษเป็นพื้นหลัง แล้วมันดีตรงที่แบบ สถานที่พวกนี้ไม่ใช่แค่เคยไป แต่เคยไปเดินช่วงคริสต์มาส มันเลย resonate กับเราได้มากขึ้นมั้ง
Love Actually เป็นหนังฟีลกู้ดที่ดูได้เรื่อย ๆ เพลิน ๆ และหัวเราะเสียงดังหลายครั้ง แต่ในขณะเดียวกันก็เรียลแบบไม่ทันตั้งตัว เพราะโดยโครงสร้างของหนังนั้น หนังเล่าถึงความสัมพันธ์ (ฉันผัวเมีย ฉันแฟน ฉันเพื่อน) หลายแบบของคนหลายคู่ บางคู่ก็ผิดหวัง บางคู่ก็สมหวัง บางคู่ก็ไม่เป็นคู่เอาซะเลย ส่วนบางคู่ก็คลิเช่ซะไม่มี อารมณ์มันเลยกว้างไง อย่างคู่ของ Martin Freeman ก็ดูตลกดี แต่พอตัดมาเป็นคู่ของ Alan Rickman เงี้ย ดูแล้วซึมเลย
ที่สำคัญ Keira Knightley ใส่หมวกฟู ๆ โอ่ยยยย
100. Citizen Kane (1941)
Tumblr media
Citizen Kane คือหนังที่ถูกโหวตโดยนักวิจารณ์จากทั่วทุกมุมโลกให้เป็นหนังอเมริกันที่ดีที่สุดที่เคยสร้างมา ส่วนจะเชื่อลมปากของนักวิจารณ์หนังเหล่านั้นรึเปล่าก็อีกเรื่อง
แต่เราชอบหนังเรื่องนี้มากทีเดียว อาจจะไม่ถึงกับขนานนามให้เป็นหนังที่ดีที่สุด แต่ก็อยู่ใน top 20 ได้แบบไม่อึดอัด
เราชอบการเล่าเรื่องผ่านบทสัมภาษณ์ของเพื่อนของ Kane บ้าง ของผู้จัดการส่วนตัวของ Kane บ้าง ผ่านภรรยาเก่าของ Kane บ้าง แล้วเอาคำพูดเหล่านั้นมาผูกกันเป็นเรื่องราวที่สมบูรณ์
มุมกล้องต่าง ๆ บางทีก็ทำให้คิดว่า เฮ้ย มุมกล้องแบบนี้มันไม่ควรจะทำได้ในปี 1941 นี่หว่า อย่างช็อตที่กล้องดอลลี่ผ่านป้ายไฟของบาร์ El Rancho แล้วทะลุกระจกเข้าไป เอาเข้าจริงมันก็ไม่เนียนเท่าไหร่ แต่ก็ทำให้ประทับใจได้เหมือนกัน
แต่ที่ชอบที่สุดคือการสร้างตัวละครหลัก Charles Foster Kane ให้มีความซับซ้อน เราไม่อาจเดาได้ว่าแต่ละการกระทำของ Kane นั้นเกิดขึ้นจากอะไร และ Kane ต้องการอะไรจากการกระทำเหล่านั้น จนตัวผู้ให้สัมภาษณ์เอง (อย่างที่บอกคือหนังเรื่องนี้ถูกเล่าผ่านบทสัมภาษณ์ของคนรอบข้างของ Kane) ต้องบอกเหตุผลว่าที่ Kane ทำ x y z ไปเพราะเหตุผลนี้ ๆ เราถึงจะเข้าใจ
ซึ่งเหตุผลเหล่านั้นดูจะชี้ไปทางเดียวกันว่า Kane ทำทุกอย่างเพื่อสนองอีโก้อันมโหฬารของตนเอง
Kane สร้างมหาปราสาท Xanadu ไม่ใช่ให้ภรรยา แต่เพื่อตัวเอง
Kane ลงสมัคร Governor ไม่ใช่เพื่อประชาชน แต่เพื่อตัวเอง
Kane สร้าง opera house ไม่ใช่เพื่อส่งเสริมความสนใจของ Susan Alexander แต่เพื่อตัวเอง
เขามีความรู้สึกว่าจำเป็นต้องพิสูจน์ตัวเองกับสังคมมาโดยตลอด และทุกคำพูด ทุกการกระทำมันก็เพิ่มพูนคุณลักษณะนั้นของ Kane ซึ่งเราว่าเป็น characterisation ที่เหนือมาก ตัวละครนี้สุด ๆ แล้ว
แต่เราว่าถ้าจะเข้าใจความเท่ของ Citizen Kane ให้ถ่องแท้ เราต้องเข้าใจว่าหนังเรื่องนี้คือผู้บุกเบิกเทคนิกการทำหนังหลายอย่าง โดยเฉพาะมุมกล้องและเทคนิก cinematography ต่าง ๆ ฉะนั้นคนที่เพิ่งเคยดูเป็นครั้งแรก (รวมเราด้วยแหละ) อาจจะเห็นว่ามันก็งั้น ๆ ทำไมมีแต่คนเชิดชูกัน เพราะเราดูหนังที่ได้แรงบันดาลใจมาจาก Citizen Kane เยอะแล้วไง เทคนิกเหล่านี้เลยดูธรรมดา ทั้งที่หลาย ๆ อย่าง หนังเรื่องนี้แหละ ต้นแบบเลย
ปรากฏการณ์ดังกล่าวมีการบันทึกไว้ที่นี่แหละ ที่คุยกันที่นี่อ่านสนุกดี
Citizen Kane คือจุดกำเนิดของหนังและการถ่ายทำหนังยุคปัจจุบัน ดังนั้นการได้ลองกลับไปดูต้นตำรับ รากฐานของหนังทั้งปวง เราว่ามันมีคุณค่า เพราะหลังจากที่เราดู The Departed และ Star Wars และ Inglourious Basterds บางทีเราก็ควรลองกลับสู่สามัญ กลับสู่...
Rosebud.
0 notes
spurofmoment · 7 years
Text
ร้อยหนัง: พฤศจิกายน
ร้อยหนังเดือนนี้ช้านิดนึง ขออภัยฮะ
ร้อยหนังคือปณิธานที่ตั้งไว้ตอนปีใหม่ว่าจะดูหนังให้ครบร้อยเรื่องก่อนสิ้นปี ผ่านไปเดือนนึงก็นึกได้ว่าควรเขียนบันทึกไว้
เราจะไม่สปอยล์ (แต่ถ้าไม่ได้ดูเรื่องนั้น ๆ มาก่อนอาจจะอ่านไม่เข้าใจ) ยกเว้นบางเรื่องซึ่งเราจะเตือนไว้ตัวหนา ๆ ว่ามีสปอยล์เลอร์
อ้อ อ่านร้อยหนังของเดือนก่อน ๆ ได้ที่ spurofmoment.tumblr.com/100
84. The Usual Suspects (1995)
Tumblr media
หนังหักมุมในตำนาน กับตอนจบที่เขาว่ากันว่าต้องอ้าปากค้าง
เราเลยดีใจที่ไม่โดนสปอยล์ตอนจบก่อนดู แต่พอดูจบก็ อืม ก็ไม่ค่อยแหวกเท่าไหร่ ริมฝีปากบนล่างก็ยังประกบกันแน่นเป็นปกติดี ไม่ได้ง้างค้างอย่างที่ใครต่อใครว่าไว้
แต่เราก็ชอบนะ ชอบที่หนังไม่ดูถูกสติปัญญาคนดู ชอบที่หนังไม่หยุดมาอธิบายว่าตอนนี้ ๆ เกิดอะไรขึ้นบ้าง หรือใครเป็นใคร แต่กลับเดินเรื่องไปเรื่อย ๆ ตอนแรกอาจมีงงบ้าง (เราอาจจะงงอยู่คนเดียวก็เป็นได้) แต่เดี๋ยวดูไปก็เข้าใจเอง
ปกติหนังหักมุมมันจะมี rewatchability คือดูจบแล้วกลับมาดูอีกรอบก็จะเก็ตว่า อ๋อ ทำไมคนนั้นทำอย่างงี้ จะกลับมาเห็นความลึกของพล็อตที่ถูกวางไว้ จะกลับมาเห็นคำใบ้ต่าง ๆ ที่หนังแอบซ่อนไว้ ดูอย่าง The Prestige ที่พอกลับไปดูกี่รอบก็จะสังเกตเห็น hint ที่โนแลนแอบวางไว้เรื่อย ๆ บางทีกลับมาดูครั้งที่สองที่สามแล้วสนุกกว่าดูครั้งแรกอีก
แต่หนังเรื่องนี้ไม่เป็นอย่างงั้นแฮะ กลับกัน การที่เรารู้ตอนจบทำให้การหักมุมของหนังรู้สึกเฉย ๆ ไม่รู้ว่าเป็นเพราะหนังไม่มีมิติหรือยังไง คือมันไม่ได้แย่ขนาด Now You See Me หรอก รายนั้นคือมันไร้เหตุผลโดยสิ้นเชิง เป็นการหักมุมแบบสะเพร่า นึกอยากจะหักก็หัก The Usual Suspects ยังพอมีความเป็นพล็อตอยู่ เนื้อเรื่องก็ยังสมเหตุสมผลอยู่ จุดหักมุมก็ยังอิมแพคอยู่
แค่คงจะไม่ได้กลับไปดูอีกรอบ
85. Finding Dory (2016)
Tumblr media
เวลาเราอ่านสิ่งที่คนพูดถึง Pixar เราจะเจอความเห็นสองแบบ คือหนึ่ง พิกซาร์ในบทของนักเล่านิทาน ในมุมนี้พิกซาร์เล่าเรื่องที่ต้องการจะเล่า มีตัวละครสดใสในโลกเหนือจินตนาการ สองคือมุมมองที่ cynical หน่อย คือพิกซาร์ในชุดสูท พิกซาร์เวอร์ชั่นนี้คือนักธุรกิจที่ต้องการจะรีดกำไรจากเด็กตัวน้อย ๆ ทั้งตั๋วหนัง ดีวีดี บลูเรย์ ตุ๊กตา ซีดีเพลง สมุดหนังสือเกมและของอีกสารพัดอย่างในแฟรนไชส์นับสิบ ยิ่งพอพิกซาร์มาอยู่ใต้ร่มดิสนี่ย์ด้วยแล้ว ภาพของเจ้าหนูมิกกี้ผู้ชั่วร้ายก็ยิ่งปรากฏเด่นชัด
เราเห็นคนเถียงกันบ่อย ๆ ว่า หนังแต่ละเรื่องที่พิกซาร์ปล่อยออกมานั้น เรื่องไหนถูกเขียนโดยพิกซาร์นักเล่าเรื่อง เรื่องไหนถูกสร้างโดยพิกซาร์นักธุรกิจ
Finding Dory ดูจะมีบทสนทนาแนวนี้มากเป็นพิเศษ
อาจเพราะเรื่องนี้เป็นหนังภาคต่อ หรือเพราะเป็นหนังภาคต่อที่ใช้กิมมิคเดิม ๆ การเดินเรื่องเดิม ๆ แต่ความซ้ำซากนี้กลับกลายมาเป็นหนังที่กระทบกระเทือนอารมณ์ของคนดูไม่ใช่น้อย
ตั้งแต่เรารู้ว่าพิกซาร์จะเอาดอรี่มาเป็นตัวละครหลัก เราก็แคลงใจว่าตัวละครขี้หลงขี้ลืมแบบนี้จะเดินเรื่องยังไงได้ ยังไงซะอาการความจำเสื่อมของดอรี่ก็ต้องเพลาลง หรือหยุดชั่วคราวในจุดสำคัญของเรื่อง คืออีปลานี่มันต้องหยุดขี้ลืมมั่งแหละ ไม่งั้นเรื่องเดินไม่ได้
ซึ่งก็ถูกเผง บางทีก็เหมือนกับว่าดอรี่ไม่ได้มีอาการ short term memory loss โดยเฉพาะในจุดที่พล็อตต้องการอย่างนั้น แต่เอาจริงเราก็โทษพิกซาร์ไม่ได้ซะทีเดียว อย่างที่ว่า ไม่งั้นมันจะเดินเรื่องไม่ได้
ในทางกลับกัน พิกซาร์ก็หยิบเอาความขี้หลงขี้ลืมของดอรี่มามัดเป็นปม แล้วคลายปมนั้นออกมาได้ดีมาก ฉากเปลือกหอยอะ แง
ที่ชอบอีกอย่างคือตัวละครใหม่ ทั้ง Hank, Destiny, Bailey แมวน้ำสามตัวนั่น แต่ละตัวละครมีปมเป็นของตัวเอง เราว่าการนำเสนอดีและไม่รู้สึก “จับยัด” ให้ politically correct น่ะ
ตอนจบเว่อจนน่ารำคาญไปหน่อย แต่ก็นะ หนังเด็ก
สุดท้าย Finding Dory จะถูกสร้างมาโดยพิกซาร์ไหน เราว่าพิกซาร์ทั้งสองแบบก็คือพิกซาร์เดียวกัน หนังเรื่องนี้ก็ a bit of both นั่นแหละ
86. Kimi no Na wa (2016)
Tumblr media
เขียนบ่น ๆ ไว้ในนี้ละ สั้น ๆ ง่าย ๆ คือไม่ค่อยถูกจริตเราเท่าไหร่ ชอบน้อยกว่า 5 Centimeters Per Second และ The Garden of Words แต่ภาพสวยสุดในสามเรื่องนี้เลย
87. Tropic Thunder (2008)
Tumblr media
หนังตลกที่เราชอบที่สุดตั้งแต่ดูหนังมา พูดแค่นี้แหละ ยังไม่ได้ดูก็ไปดูซะ
88. The Legend of 1900 (1998)
Tumblr media
หนังเรื่องนี้มีคนแนะนำมา โดยที่หนังเรื่องนี้ไม่ได้อยู่ในลิสต์ที่วางแผนจะดู ไม่เคยได้ยินชื่อมาก่อนด้วยซ้ำ แต่ โอ่ย ดีใจมากที่ได้ดู
The Legend of 1900 คือหนังว่าด้วยเด็กคนหนึ่งที่เกิดบนเรือสำราญข้ามแอตแลนติก และใช้ชีวิตอยู่บนเรือไม่เคยลงไปเหยียบแผ่นดิน แถมยังเป็นนักเล่นเปียโนฝีมือระดับพระกาฬ
ดูแล้วเหมือนโหมโรงผสมทาร์ซานอะ
ที่อธิบายว่าเหมือนทาร์ซานเพราะลักษณะท่าทางของพระเอกดูซื่อ ๆ อยากรู้อยากเห็น หวงถิ่นที่อยู่ตัวเอง แต่ก็มีความฉลาดในโลกของตน ในที่นี้คือท้องทะเล และเปียโน
ส่วนโหมโรงก็ฉากดวลเปียโน นั่นแหละใช่เลย
ตอนดูไปถึงฉากที่เล่นเปียโนแล้วไหลไปมาบนพื้นเราถึงกับต้องกดพอสหนังแล้วแคปหน้าจอไว้ใช้เป็นรูปประกอบ (ปกติเราจะไปหารูปประกอบเอาในเน็ต) พอดู ๆ ไปก็ยิ่งมีอีกหลายฉากที่ต้องแคปไว้ ฉากที่นอนคุยกันบนกองถ่านก็ใช่ ฉากที่เดินลงจากเรือก็ใช่ เลือกไม่ถูกว่าจะใช้รูปไหนดี เป็นสัญญาณว่า หนังภาพสวยมาก สวยผิดคาด
The Legend of 1900 มีกลิ่นอายของตำนาน ของนิทานปรัมปรา มันยิ่งใหญ่แต่ในขณะเดียวกันก็ personal อย่างเหลือเชื่อ มีตัวละครแค่ไม่กี่คนแต่ดูจบแล้วเหมือนได้รู้จักโลกของหนังทั้งใบ
และที่ไม่พูดถึงไม่ได้คือดนตรีประกอบ เพราะมาก มีดนตรีควบกับทุกอารมณ์แทบทั้งเรื่อง มีเพลงสนุกสนานในฉากเต้นรำ เพลงที่หนักแน่น เข้มข้นในฉากดวลเปียโน เพลงที่อ่อนช้อยในฉากที่พระเอกมองผู้หญิงคนนั้นผ่านหน้าต่างเรือ
หนังเรื่องนี้ไม่ค่อยมีใครพูดถึง แต่เราชอบมาก ๆ
อ้อ พอดู ๆ ไปนี่พระเอกสองคนหน้าเหมือน James Corden กับ Ryan Gosling มากอะ ถ้ามีฉบับรีเมก (อย่ามีเลย มีแล้วชอบทำเสียหมด) คงได้สองคนนี้มาแสดง
89. Blue Valentine (2010)
Tumblr media
อย่างแรก Michelle Williams บางมุมก็หน้าเหมือน Emma Stone นะ
สอง เราโคตรเกลียดคนนิสัยแบบ Dean (ตัวละครของ Ryan Gosling) เลย
จากที่อ่านความเห็นต่อหนังเรื่องนี้ เราว่ามันมีความคล้ายคลึงกับ 500 Days of Summer ตรงที่แต่ละคนจะมีมุมมองเกี่ยวกับฝ่ายชายฝ่ายหญิงต่างกันไป บางคนก็เข้าข้างฝ่ายชาย บอกว่าฝ่ายชาย (ของทั้งสองเรื่อง) พยายามทำทุกอย่างเพื่อยื้อความสัมพันธ์เอาไว้ บางคนก็เข้าข้างฝ่ายหญิง บอกว่าความสัมพันธ์มันตายไปแล้ว การมามัวยื้ออยู่มันทำให้ทุกข์กันทั้งคู่ ใน 500 Days เราเข้าข้าง Summer (ฝ่ายหญิง) แต่ในหนังเรื่องนี้เราเข้าข้าง Dean นะ เพราะการที่ทั้งสองคนนี้อยู่ด้วยกันมันดีต่อลูก อย่างน้อยก็ดีกว่าการแยกกันอยู่ มันสมเหตุสมผลอะ
เห็นแก่เด็ก ว่างั้น
แต่คือความเกลียดคนนิสัยแบบ Dean มันทำให้เราไม่อยากเข้าข้างมันเลย พวกชอบตะโกนโวยวาย อ้างตัวเองเป็น “คนจริง” งี้ แล้วเอากำลังมาข่มขู่คนอื่นอีก โคตรขยะ
ชอบหนังเรื่องนี้ตรงที่การตัดไปตัดมาระหว่างอดีตกับปัจจุบัน สิ่งที่เคยเป็นกับสิ่งที่เป็นอยู่ มันฉับพลันมาก จากความแฮปปี้ (เน้นพยางค์หลัง) ใน honeymoon phase ตัดฉับมาเป็นความเบื่อหน่ายซึ่งกันและกัน พระเอกทำโต๊ะเลอะเทอะ นางเอกตื่นสาย ไรงี้ เรื่องเล็ก ๆ แต่พอทับถมกันหลาย ๆ ปีแล้วมันก็ใกล้จุดแตกหักเข้าไปเรื่อย ๆ มันอึดอัด
ซึ่งการตัดไปมาระหว่างสองช่วงเวลานี่จะชัดเจนมาก เพราะใช้โทนสีต่างกัน ฉากอดีตจะมีสีส้ม ๆ ร้อน ๆ สื่อถึงเปลวไฟแห่งรักอันเร่าร้อนไรงี้มั้ง พอตัดมาเป็นปัจจุบันก็จะกลายเป็นสีจืด ๆ เย็น ๆ อย่างในรูป
แถมเครดิตตอนจบเรื่องสวยมาก (ไม่มีสปอยล์เลอร์)
90. Carol (2015)
Tumblr media
Carol คือ “หนังเบี้ยนที่เข้าชิงออสการ์ปีล่าสุดอะ”
หนังเรื่องนี้ classy มาก เพราะ Cate Blanchett เธอ classy อยู่แล้ว กุลสตรีสุด ๆ ทุกท่าทาง ทุกอารมณ์ บางทีคลาสนั้นก็มาจากตัวละครของเธอเอง แต่บางทีก็อดคิดไม่ได้ว่าความคลาสนั้นอาจจะมาจากกรอบของสังคมที่ตีล้อมเธอไว้จนแน่นไม่มีที่หายใจ
Cate Blanchett มี screen presence สูงมาก ฉากไหนที่มีเธออยู่ด้วย Cate Blanchett จะกลบทุกอย่างหมด จนอยากจะให้เพลา ๆ ลงไปบ้าง ให้นักแสดงคนอื่นมีพื้นที่ได้แสดงบ้าง
น่าเสียดายที่ นอกจากการแสดงของ Cate Blanchett แล้ว หนังเรื่องนี้ไม่ค่อยเหลืออะไรให้ชื่นชมมากมายนัก ตัวละครของ Rooney Mara ค่อนข้างจืดและกลืนหายไปกับฉากหลัง ที่เหลือก็ดราม่าทั่วไป
อ้อ ยังมีอีกอย่างที่เราชอบคือ cinematography โดยเฉพาะเฟรมมิ่งเราว่าบรรเจิดเลิศวิไลมาก ตอนกลาง ๆ เรื่องหนังเล่นกับเฟรมมิ่งในกระจกรถหลายรอบ ตัวละครสองคนจะถูกเฟรมให้อยู่ในกรอบเดียวกัน หรือแยกกรอบกันขึ้นอยู่กับสถานการณ์และความรู้สึกของทั้งสองคนนั้น กรอบหน้าต่าง กรอบประตูถูกใช้เป็นเฟรมได้หมด มีฉากนึงที่ตัวละครนั่งอยู่ที่โต๊ะกินข้าว แต่มีขอบประตูเป็น foreground บังตัวละครอื่นที่ร่วมโต๊ะเดียวกัน แล้วแต่ละคัทก็ค่อย ๆ เปิดเผยว่ามีใครนั่งอยู่ที่โต๊ะบ้าง มันเดาง่ายแหละเพราะหนังใช้เฟรมมิ่งแบบนี้มาทั้งเรื่อง แต่เวลาได้เห็นจริง ๆ มันก็ เออ ก็สวยดี
91. Hell or High Water (2016)
Tumblr media
เอาจริงนะ ฟังสำเนียง southern ของ Chris Pine กับ Ben Foster ไม่ออก โดยเฉพาะเวลาคุยกันเนี่ยจะกระซิบทำแพะอะไร
นั่นแหละ สิ่งเดียวที่เราไม่ชอบเกี่ยวกับหนังเรื่องนี้
การจะอธิบายว่า Hell or High Water ดียังไงเราว่ายาก หนังเรื่องนี้คือหนังคาวบอยทั่วไป คือหนังปล้นธนาคารทั่วไป แต่มันทำทุกอย่างถูกอะ เหมือนที่ John Wick เป็นหนังแอ็กชั่นธรรมดาที่ทำทุกอย่างถูกนั่นแหละ
อย่างแรกคือ หนังทั้งเรื่องเน้นไปที่ความสัมพันธ์ฉันพี่น้องของตัวละครของ Chris Pine กับ Ben Foster โดยไม่ต้องใส่ใจเรื่อง love interest เลย ไม่ต้องมาเสียเวลากับพล็อตโรแม๊นซ์ที่ไม่จำเป็นต่อเรื่อง อันนี้ชอบ
สองคือมันมีเนื้อหาที่จับต้องได้ ไม่ใช่แค่ยิงกันปิ้ว ๆ คนร้ายตาย ทุกคนดีใจ แต่มันมี message อย่างตอนที่ Alberto (ตัวละคร Native American) ชี้ไปที่ธนาคารแล้วพูดประมาณว่า (จำคำเป๊ะ ๆ ไม่ได้) “It was my ancestor’s land and these folks took it. Now it’s been taken from them. Except it ain’t no army doing it, it’s these sons of bitches right there.” เราว่าโคตรมีพลัง
ตัวละครหลักทั้งสี่ตัวก็มีพัฒนาการจากต้นจนจบเรื่อง เราได้เห็น ได้ทำความรู้จักกับตัวละครเหล่านี้ จนเราแคร์ จนเราต้องการให้ตัวละครเหล่านี้ได้อย่างที่ต้องการ หรืออย่างน้อยก็อยู่รอดจนจบเรื่อง
แถมภาพทิวทัศน์ทะเลทรายสวยมาก ได้ฟีลหนังคาวบอยเก่า ๆ 
92. Airplane! (1980)
Tumblr media
หนังตลกยุคเก่า ๆ นี่เป็นอะไรที่มีเอกลักษณ์มาก เป็นเอกลักษณ์ที่เราคุ้นเคยมาจากการ์ตูนที่ดูตอนเด็กอย่าง Pink Panther (พอพูดชื่อเรื่องทีเพลงเปิดลอยมาเลย ตื่อดึง ตือดึง ตือดึ๊ง ตื่อดึงตือดึงตื๊อดึง ตื่อดึงตื๊อดืออออ... นั่นแหละ) หรือพวกทอมแอนด์เจอร์รี่ ป๊อปอาย อะไรพวกนั้น เราว่า Airplane! เป็นหนังที่มีอะไรหลายอย่างคล้ายกับการ์ตูน (ก็ดูรูปข้างบน...)
ในขณะที่หนังตลกสมัยใหม่ — แต่ก็นั่นแหละ จะว่าหนังตลกสมัยใหม่ก็พูดยาก จะกลายเป็นว่า generalise เกินไป เอาเป็นว่าตลกแบบ Jim Carrey หรือแบบ Zack Galifianakis อะไรแบบนี้ละกัน — จะเป็นหนังพลังแรงสูง ไฮอ็อกเทน หนังเก่า ๆ จะเนิบ ๆ ยิงมาทีละมุก ๆ แต่ละมุกก็มักจะชงและตบในฉากเดียว ไม่ต้องเก็บ setup ไว้ในแรมแล้วมา payoff ในอีกฉากนึงสิบห้านาทีต่อมาไรงี้ เราว่ามันดูสบายดี บางมุกก็ฉลาด (มุก It’s an entirely different kind of flying, altogether นี่งงไปสิบวิ) บางมุกก็ เอ่อะ ถ้าเอามาใส่ในหนังสมัยนี้โดนด่าตาย พวกมุกเหยียดผิวทั้งหลายอะ ก็อืม ข้ามไป
ที่เราไม่รู้คือ หนังเรื่องนี้เป็นจุดกำเนิดของ pop reference เยอะมาก อย่าง “I’m serious, and don’t call me Shirley.” นี่มาจากหนังเรื่องนี้นะ เพิ่งรู้
By the way, is there anyone on board who knows how to fly a plane?
0 notes
spurofmoment · 7 years
Text
สิ่งที่นึกได้ตอนดู Kimi no Na wa.
Tumblr media
- Kimi no Na wa (Your Name) คือหนังแฟนตาซีรอมคอม กำกับโดยมาโคโตะ ชินไค ผู้กำกับเดียวกับ 5 Centimeters Per Second และ The Garden of Words
- **ใครยังไม่ได้ดูอย่าเพิ่งอ่านนะ มีสปอยล์เลอร์** ถ้าอยากได้ความเห็นเรา ง่าย ๆ คือ ภาพสวยสุดแต่เราชอบน้อยสุดในบรรดาหนังชินไค บอกได้แค่นี้แหละ ถ้าบอกเหตุผลว่าทำไมถึงไม่ชอบจะสปอยล์ทันที
- ให้โอกาสอีกรอบ ถ้ายังไม่ได้ดู ปิดก่อนนนน
- โอเค ขอออกตัวว่าประโยคที่เรากำลังจะเขียนนี้ เราเขียนแบบไม่พรีเทนเชียส ไม่ฮิปสเตอร์ ไม่ contrarian เลยนะ แต่เราเฉย ๆ กับ Kimi no Na wa อะ
- เฉย ๆ แบบ ซัก 3/5 อะ ไม่ใช่แบบ this is so mainstream เลยไม่ชอบนะ ไม่ใช่แบบ “เฮ้ย ชินไคที่เรารู้จักไม่ใช่แบบนี้” เลยไม่ชอบ ไรงี้นะ
- ที่ต้องย้ำขนาดนั้นเพราะเราก็ไม่ค่อยเชื่อตัวเองเหมือนกันว่าทำไมดูจบ ออกมาแล้วบ่อน้ำตามันแห้งขนาดนี้ อารมณ์ร่วมไม่มีเลยอะ
- แต่ก็ต้องยอมรับว่าเราดูหนังเรื่องนี้แบบหนังชินไค คืออาจจะตั้งความหวังไว้สูงเกินหรือเปล่า อาจจะต้องกลับไปดูอีกรอบ (ฮ่า) คือถ้าใช้ไม้บรรทัดแบบที่เราใช้ดูอนิเมะทั่วไปมาวัด เราอาจจะให้หนังเรื่องนี้ซัก 4/5 นะ แต่ก็ไม่รู้ดิ เราไม่ค่อยอิน
- ที่คิดว่าไม่อินเพราะเนื้อเรื่องมันแฟนตาซีไปอะ ไอ้ความแฟนตาซีนี่มันต้องให้คนดูมี suspension of disbelief ตลอดเรื่องให้ได้นะ ต้องทำให้คนดูยอมรับโลกในหนัง และกฏของโลกในหนัง คนดูถึงจะก้าวข้ามไป appreciate อารมณ์ของหนังได้ เหมือนมันอยู่คนละเลเยอร์กันอะ ซึ่งเราว่าหนังเรื่องนี้ก้าวผ่านเลเยอร์ suspension of disbelief ไม่ได้
- เหตุผลใหญ่เพราะหนังไม่ทำตามกฏที่ตัวเองสร้างขึ้น อย่างตอนแรกพระเอกนางเอกสลับตัวกันตอนหลับใช่มะ แต่พอมากลาง-ท้ายเรื่องนี่กฏมั่วเลย กินสาเกก็สลับ ดาวหางตกใส่ก็สลับ ยิ่งตอนท้ายสุดนี่ ยืนอยู่เฉย ๆ ดันสลับซะงั้น มันทำให้คนดู (อย่างน้อยก็เรา) ชะงักว่า สรุปแล้วมันจะยังไงแน่ มันเลยไม่มี cognitive capacity เหลือให้เข้าใจโมเม้นต์นั้น ๆ ในเชิงอารมณ์อะ พอเก็ตแมะ
- อีกอย่างคือ การจะทำหนังตลกให้เศร้ามันต้องคุมอารมณ์คนดู ลองนึกถ��งหนังตลกที่เศร้า ๆ ดูดิ แบบหัวเราะ ๆ อยู่ร้องไห้เฉยเลย อย่าง How I Met Your Mother เงี้ย หรือ 500 Days of Summer เงี้ย มันจะมีโมเม้นต์ที่แบบ ตลก หัวเราะ แล้ว build up ขึ้นไปเรื่อย ๆ แล้วทิ้ง วูบ เศร้าเลย ซึ่ง Kimi no Na wa ก็มีโมเม้นต์นี้นะ ตอนที่ยืนอยู่ตรงขอบภูเขาไฟแล้วปากกาตก แต่สำหรับเรามันไม่พีคไง หรือว่าฉากแบบนี้จะเคยเห็นมาแล้ว... อย่าง HIMYM S04E13 Three Days of Snow
Tumblr media
- gif คุณภาพต่ำมาก ทัมเบลอให้อัปไฟล์ได้ไม่เกิน 2mb ขออภัยฮะ (ถ้าใครไม่คุ้น ในรูปคือตัวละครหลักสองตัว ในเรื่องเป็นผัวเมียกัน นัดเจอกันที่สนามบิน ถ่ายทำแบบ เหมือนจะเจอกัน แต่สุดท้าย bait-and-switch ปั๊บ คนละวันกัน เหมือนกับใน Kimi no Na wa เป๊ะเลย แต่ตัดต่อต่างกัน ซึ่งเราเข้าใจดีว่านี่มันเป็นความลำเอียง คือเอาสิ่งที่เคยดูมาทำให้สิ่งที่ดูอยู่มีความน่าตรึงตาตรึงใจน้อยลง แต่ก็นั่นแหละ อาจจะเป็นเหตุผลที่เราไม่พีคฉากนั้น)
- แต่เรายังมีความหวังว่าเราจะอินกับหนัง ถ้าเรื่องนี้จบแนวเดียวกับเรื่องก่อน ๆ แต่อนิจจา จบสวยงามมาก เทพนิยายมาก แต่เราก็หากันจนเจอมาก ดีไม่จบด้วยเพลงพี่กบทรงสิทธิ์
- อันนี้เฮิร์ทส่วนตัวเพราะหนังชินไคสำหรับเราคือหนังหวานขม แต่นี่มาหวานอย่างเดียว เลี่ยนไปหน่อย แง
- เรื่องนี้เพลงเยอะจัง เพลงเพราะดีนะ แต่ด้วยความที่เราไม่อินกะเนื้อเรื่องไง เลยพลอยจะไม่อินกะเพลงไปด้วย
- เราเขียนไปข้างบนว่าให้คะแนนเนื้อเรื่อง 3/5 แต่ด้านภาพให้ 5/5 ไปเลย อันนี้ของจริง ภาพสวยมากกกกก สวยกว่า 5cm/s สวยกว่า Garden of Words เยอะ ยิ่งมีพื้นที่ให้บ้าพลังอย่างฉากดาวหางงี้ โหดมาก หลาย ๆ ฉากก็เป็นฉากแพนกล้อง บ้าหลังกว่าเรื่องก่อน ๆ ที่ฉากจะอยู่เฉย ๆ เป็นส่วนใหญ่ โหดจริง ๆ กราบ
- เหมือนกับจะบ่นอย่างเดียวเลย เฮ้ย จริง ๆ คือหนังดีนะ ภาพสวย เนื้อหา การเดินเรื่อง ถึงจะไม่ถึงขั้น 5cm/s แต่ก็โอเคเลย
- แต่เสียดายอะ อยากหวานขม
0 notes
spurofmoment · 7 years
Text
ร้อยหนัง: ตุลาคม
ร้อยหนังคือปณิธานที่ตั้งไว้ตอนปีใหม่ว่าจะดูหนังให้ครบร้อยเรื่องก่อนสิ้นปี ผ่านไปเดือนนึงก็นึกได้ว่าควรเขียนบันทึกไว้
เราจะไม่สปอยล์ (แต่ถ้าไม่ได้ดูเรื่องนั้น ๆ มาก่อนอาจจะอ่านไม่เข้าใจ) ยกเว้นบางเรื่องซึ่งเราจะเตือนไว้ตัวหนา ๆ ว่ามีสปอยล์เลอร์
อ้อ อ่านร้อยหนังของเดือนก่อน ๆ ได้ที่ spurofmoment.tumblr.com/100
75. In Bruges (2008)
Tumblr media
เป็นหนังตลกร้ายที่ตลกมากและร้ายมาก
หนังที่ตอนแรกดูจะเป็นหนังตลกธรรมดา แต่ความธรรมดามันเป็นเยื่อบาง ๆ หุ้มความดาร์กเอาไว้ เหมือนยูโร่คัสตาร์ดเค้ก (ในโฆษณา ไม่ใช่ของจริง) ที่พอบิเนื้อข้างนอกนิดเดียว ไส้ในก็หยาดเยิ้มออกมา
แถมมุกตลกนี่ก็อังกฤษจ๋ามาก เป็นรสชาติความตลกที่ไม่เหมือนใคร ต้องดูเอาเอง ขำมาก ขำตลอดเรื่อง ที่ยิ่งไปกว่านั้นคือมุกตลกไม่ได้ทำให้ส่วนที่จริงจังของหนังน่าเบื่อหรือไร้ความหมาย เพราะ In Bruges เต็มไปด้วยสัญลักษณ์ ความขนาน (parallel) ของตัวละคร และ foreshadowing อีกมากมายที่ตอนดูครั้งแรกอาจจะไม่ทันสังเกต
วิดีโอนี้วิเคราะห์ In Bruges ได้ถึงแก่นมาก แนะนำให้ดู (วิดีโอมีสปอยล์เลอร์นะ) ดูแล้วเห็นด้วยทุกอย่างเลย อธิบายในสิ่งที่เราอธิบายไม่ถูกอีกหลายประเด็น
อ้อ แล้วก็ soundtrack เพราะมาก เป็นเปียโนบรรเลงแบบหลอน ๆ 
ถ้าใครอยากดู เราแนะนำว่าอย่าดูเทรลเลอร์เด็ดขาด เพราะเทรลเลอร์นี่เหมือนตัวอย่างหนังคนละเรื่อง
76. John Wick (2014)
Tumblr media
John Wick คือหนังที่ผู้กำกับหนังแอ็กชั่นทุกคนควรดู เพราะนอกจากแอ็กชั่นแล้ว หนังเรื่องนี้ไม่มีอะไรเลย
นั่นคือคำชม
จุดขายของหนังเรื่องนี้คือมันโนบูลชิทอะ ถ้าใครเคยดูหนังแอ็กชั่นแล้วงงว่าพระเอกเอากระสุนปืนมาจากไหนเยอะแยะ แล้วทำไมยิงกันเป็นชั่วโมงแล้วยังไม่ต้องเปลี่ยนแม็ก หรือทำไมขับรถลงข้างทางนิดเดียวรถระเบิดตู้ม จะชอบหนังเรื่องนี้มาก เพราะ trope ที่น่ารำคาญเหล่านี้ John Wick ไม่มี
จริง ๆ trope subversion ในหนังเรื่องนี้ยังมีอีกเยอะ ทั้งการที่พระเอกเปลี่ยนแม็กก่อนที่แม็กเดิมจะหมด หรือการที่พระเอกยิงจ่อหัวคนร้ายเพื่อให้แน่ใจว่าคนร้ายตายสนิท ฯลฯ
หนังเรื่องนี้ทำฉากแอ็กชั่นได้ดีจนไม่มีความจำเป็นต้องปิดบังการต่อสู้ด้วยเอฟเฟ็กต์กล้องสั่น หรือการตัดไปตัดมาเยอะ ๆ หรือการสู้ในที่มืดอย่างที่หนังเรื่องอื่น ๆ ใช้เพื่อให้คนดูมองความเคลื่อนไหวบนจอไม่ออก กลับกัน ช็อตส่วนใหญ่ของ John Wick จะเป็นช็อตนิ่ง มุมกว้าง และสว่าง เราชอบด้านนี้มาก
ความ “สมจริง” ทำให้ John Wick แตกต่างจากหนังตลาดทั่วไป
ที่เราต้องใส่อัญประกาศครอบคำว่า “สมจริง” ไว้เพราะว่า ในขณะที่การกระทำของตัวละครในเรื่องนั้นสมจริง โลกของหนังกลับเว่อร์จนเหมือนหลุดมาจากหนังสือการ์ตูน
โลกที่ตัวละครเสียเวลาเติมกระสุนใส่ปืนลูกซอง กับโลกที่มีไนท์คลับลับสุดยอดที่เปิดให้เฉพาะมือปืนรับจ้างมานั่งสังสรรค์ คือโลกใบเดียวกัน คือโลกในหนัง
แต่ความสมจริงในโลกที่ไม่สมจริงมันก็เข้ากันได้ดีแบบแปลก ๆ 
อย่างที่บอกไปคือ นอกจากแอ็กชั่นแล้ว หนังเรื่องนี้ไม่มีอะไรเลย
แต่ดูแค่แอ็กชั่นก็คุ้มเหลือแหล่แล้ว
77. Anomalisa (2015)
Tumblr media
โดยปกติเวลาเราจะพูดถึงหนังเรื่องไหนแล้วจะสปอยล์ เราจะให้คำแนะนำก่อนว่าควรหรือไม่ควรดู (ส่วนใหญ่จะควรดู ประมาณว่าไปดูก่อนแล้วมาคุยกัน) แต่สำหรับ Anomalisa... เอ่อ...
ไม่รู้อะ
ไม่ใช่ว่าหนังไม่ดีนะ หนังโอเคเลย แต่เราไม่แน่ใจว่าคนอื่นจะชอบ เหมือนไก่ tandoori ทอดน่ะ เราทำกินเองแล้วอร่อย แต่ไม่ค่อยกล้าจะแนะนำชาวบ้าน (แต่อร่อยจริง ๆ นะ...)
เอาเป็นว่าถ้าใครชอบแอนิเมชั่นแนวอาร์ต ๆ หน่อย ธีมประมาณความจำเจของมนุษย์ในสังคม ก็ลองไปดูเถอะ แล้วค่อยมาอ่าน เพราะต่อจากนี้มีสปอยเลอร์
โอเค
หลังจากดูได้ซักพักนึง พอมีเสียงผู้ชายมาพากษ์ตัวละครหญิง เราก็นึกในใจว่า หนังมันจะอาร์ตไปไหนเนี่ย พอตัวละครหญิงหลาย ๆ ตัวมีเสียงผู้ชาย (คนเดิม) พากษ์ เราก็เริ่มคิดว่า หนังนี่มันอะไร sexist รึเปล่า ทำไมไม่จ้างผู้หญิงมาพากษ์
ฟังไปฟังมา อ้าวเฮ่ย ตัวละครที่ไม่ใช่พระเอกมันคนพากษ์คนเดียวกันหมดเลยนี่หว่า
งง ไม่เข้าใจความอาร์ตของมัน ไม่เข้าใจว่าต้องการสื่ออะไร
พอพระเอกเจอ Lisa ก็เริ่มเก็ตละว่า อ๋อ ในสายตาของพระเอก ทุกคนในโลกก็เหมือนกันไปหมด คือไม่มีความดึงดูด (แสดงให้เห็นโดยเสียงผู้ชาย ซึ่งเป็นเพศที่พระเอกไม่ฝักใฝ่) จนได้มาเจอ Lisa ผู้มีเสียงเพราะดั่งนางฟ้า
แต่พอได้คุยกันซักพัก พอเริ่มรู้จักกันก็เริ่มเห็นถึงปัญหา ข้อบกพร่อง อย่างการเคี้ยวไปพูดไป ทำให้ Lisa — ในสายตาพระเอก — เริ่มไร้เสน่ห์ เสียงที่เคยไพเราะก็แหบแห้ง สุดท้ายก็กลายเป็นเหมือน “คนอื่น”
มีคนใน reddit เสนอทฤษฎีว่า Lisa นั้นแท้จริงแล้วคือตุ๊กตาที่พระเอกซื้อมานั่นเอง สังเกตได้จากรอยแผลเป็นตรงตาขวาของ Lisa นั้นตรงกับรอยแตกที่ตุ๊กตา แถมเพลงที่ Lisa ร้องก็ไปคล้ายกับเพลงที่ตุ๊กตาร้อง
ซึ่งก็แปลว่า... น่ะนะ
เป็นหนังที่ดูจบแล้วต้องมานั่งคิดว่าแต่ละ element ของเรื่องมันสื่อถึงอะไรบ้าง พอเริ่มดูออกแล้วก็เกิดความรู้สึกสะอิดสะเอียน เราว่าหนังต้องการจะสร้างอารมณ์แบบนั้นแหละ
78. Hunt for the Wilderpeople (2016)
Tumblr media
ดูหนังเรื่องนี้แล้วได้ฟีลเหมือน Moonlight Kingdom ในสเกลใหญ่ระดับ The Secret Life of Walter Mitty ว่าด้วยเด็กชายกับพ่อเลี้ยงที่มีเหตุจำเป็นจะต้องหนีไปอยู่ในป่าอันกว้างใหญ่ของนิวซีแลนด์
เป็นหนึ่งในหนังที่ภาพสวยที่สุดที่เคยดูมา เหมือนโฆษณาการท่องเที่ยวนิวซีแลนด์ (จะว่าไปก็เหมือนกับที่ Walter Mitty เป็นโฆษณาการท่องเที่ยวของไอซ์แลนด์) คือดูจบแล้วอยากจะจองตั๋วบินไปนิวซีแลนด์บัดเดี๋ยวนั้นเลย สวยอลังการมากทุกฉาก ทั้งผืนป่า ภูเขาหิมะ ลำธาร น้ำตก หน้าผา มุมกว้างและช็อตจากอากาศทุกช็อตนี่อาหารตามาก
Hunt for the Wilderpeople กำกับโดย Taika Waititi ผู้กำกับเดียวกับ Thor: Ragnarok (ซึ่ง ณ วันที่เขียนนี้เพิ่งปิดกล้องกันไปได้ไม่นาน) เลยอยากจะดูฝีมือผู้กำกับคนนี้ว่า Thor 3 จะไปในแนวไหน
แนวบ้า คำตอบคือแนวบ้า (เฮีย Taika แกบอกเอง)
หลังจากดู Hunt for the Wilderpeople แล้ว Thor 3 กลายเป็นหนังมาร์เวลที่เราอยากดูที่สุดเลย อยากดูกว่า Doctor Strange อีกตอนนี้
เราว่า Taika Waititi มีความเป็นเอกลักษณ์สูง ดูตอนแรกมุกตลกอาจจะเหมือน Edgar Wright บ้าง โทนของหนัง บทพูด หรือช็อตบางช็อตอาจจะคล้าย Wes Anderson หน่อย ๆ แต่พอดูไปก็รู้สึกว่ามันไม่ใช่อะ เอาผู้กำกับเหล่านี้มาอธิบาย Taika ไม่ได้ เพราะถึงจะแปลก ถึงจะบ้าบอ แต่ก็เป็นความบ้าบอคนละแบรนด์กัน
หนังเรื่องนี้ โดยแก่นของมันคือหนังผจญภัย ถึงจะมีคอเมดี้ผสมอยู่ด้วย แต่ธีมหลัก ๆ คือการออกไปเผชิญโลกกว้าง ตัวละครที่มีนิสัยแบบนึงตอนต้นเรื่อง พอถึงปลายเรื่อง เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก็หล่อหลอมให้ตัวละครนั้นเป็นคนดีขึ้น เป็นเนื้อเรื่องที่หาได้ทั่วไปในหนังครอบครัว แต่ Hunt for the Wilderpeople สร้างตัวละครได้น่ารักน่าชัง มีมิติ ไร้จุดหมายแต่ก็มีแรงจูงใจ ทำให้คนดูคอยเอาใจช่วยได้ พลังของหนังมันอยู่ตรงนี้
จังหวะการเดินเรื่องก็ดี ไม่มีจุดไหนที่เร็วไปหรือเอื่อยไป ตรึงความสนใจของคนดูได้ตลอดทั้งเรื่อง สรุปคือดีไปหมด ทั้งภาพ เนื้อหา ตัวละคร การเดินเรื่อง
อ้อ ที่สำคัญ สำเนียงนิวซีแลนด์อร่อยหูมาก
79. Frances Ha (2012)
Tumblr media
เฮ่ย ไม่คิดว่าจะชอบหนังเรื่องนี้มากขนาดนี้ แบบ อธิบายไม่ถูกอะ แต่คิดว่าคงกลับมาดูหนังเรื่องนี้ซ้ำอีกเรื่อย ๆ ไม่เบื่อเลย
Frances Ha เล่าเรื่องของ Frances (เล่นโดย Greta Gerwig) หญิงวัยยี่สิบเจ็ดผู้ไร้งาน ไร้บ้าน และไร้เงิน แต่ก็มีมุมมองต่อชีวิตที่สนุกสนาน หนังอาร์ตเฮาส์เรื่องนี้ถูกถ่ายทอดผ่านภาพขาวดำ ผสมกับส่วนประกอบกุ๊กกิ๊กของนูเวล วาก (Nouvelle Vague — แปลตรงตัวว่า ”คลื่นลูกใหม่” กระแสการทำหนังของฝรั่งเศสในช่วงปี 1950 (ช่วงนี้อ่านเรื่องนี้อยู่พอดีน่ะ)) โดยเฉพาะการตัดต่อแบบข้าม ๆ หรือฉากที่กล้องแทร็กตามนางเอกที่วิ่งข้ามถนน
แต่ถึงอย่างนั้น Frances Ha ก็ไม่ได้จริงจังกับตัวเองมากไป ไม่ได้พรีเทนเชียส แต่กลับกัน บทพูดของตัวละครสมจริง แต่ก็ฉลาด เป็นกันเองแบบไม่ต้องประดิษฐ์ประดอยประโยคมาปะทะกัน และความตลกของหนังก็มาจากลักษณะนิสัยของตัวนางเอกเอง เสน่ห์ล้นเหลือมากคนนี้
“I’m so embarrassed, I’m not a real person yet.”
เราว่าที่เราชอบหนังเรื่องนี้มากเพราะความมองโลกในแง่ดีของนางเอกนี่แหละ มันพลอยให้เราสบายใจไปด้วยว่า เออ ถึงชีวิตของเธอจะเละเทะ แต่มันก็โอเคอะ มันไม่จำเป็นต้องมีความสุขตลอด ไม่ต้องได้ทุกอย่างตามที่ฝันก็ได้
แค่นี้ก็ได้ ไม่เป็นไร
มันเป็นข้อความที่ขี้แพ้ดีนะ เป็นข้อความที่คนเขียนหนังสือประเภทรวยได้ในสามวันจะต้องดิ้นพล่านพร้อมตะโกนด่าว่าทัศนคติแบบนี้มันห่วยแตก มีแต่ผู้แพ้เท่านั้นที่คิดแบบนี้ แต่ในขณะเดียวกันมันก็เป็นเครื่องปลอบใจได้แบบแปลก ๆ เพราะเวลาเราหมุนตามโลกไม่ทัน เราอาจจะไม่ต้องการคนมาบอกให้หมุนเร็วขึ้น ให้วิ่งเร็วขึ้น แต่อาจจะอยากได้หนังซักเรื่องมาบอกว่า อือ แค่นี้ก็ได้
ไม่เป็นไร
80. Rushmore (1998)
Tumblr media
เป็นหนัง Wes Anderson ที่ถูกจริตเรามากที่สุดละเรื่องนี้ (ทำไมเดือนนี้ได้ดูแต่หนังดี ๆ เนี่ย เรื่องไหนก็ชอบไปหมด) หลังจากที่ค่อนข้างเฉย ๆ กับ The Royal Tenenbaums ไปเดือนที่แล้ว
Rushmore เล่าเรื่องของ Max (เล่นโดย Jason Schwartzman) เด็กชายแก่แดดกับเรื่องราวในและนอกโรงเรียนเอกชนชื่อ Rushmore
การย้อนดูหนัง Wes Anderson นี่ทำให้เราเห็นต้นตอของส่วนประกอบในหนังเรื่องหลัง ๆ อย่าง The Grand Budapest Hotel เหมือนกันนะ เหมือนกับได้มาเห็นจุดกำเนิดของไอเดีย ของเทคนิกต่าง ๆ ที่ถูกนำไปต่อยอด ทั้งด้านภาพ และการเล่าเรื่อง
อย่างประเด็นพ่อลูกไม่ถูกกันนี่มีให้เห็นทุกเรื่อง บางเรื่องก็เป็นธีมหลักด้วยซ้ำ (The Royal Tenenbaums กับ The Darjeeling Limited เป็นต้น) ในเรื่องนี้ก็มีหลายฉากที่ Max, Rosemary (เล่นโดย Olivia Williams), และ Herman (เล่นโดย Bill Murray) ถูกเฟรมให้เห็นเป็นครอบครัว ทั้งที่แต่ละคนไม่ได้เกี่ยวข้องกัน และหนังจะเน้นความแก่แดดของ Max โดยการบอกว่าสามคนนี้เป็นเพื่อนกันก็ตาม โดยความสัมพันธ์ของทั้งสามคนนี้ก็กลายมาเป็นความขัดแย้งหลักของเรื่อง ไม่ผิดธีม
มุมที่เราเห็นว่าเอาไปต่อยอดได้อีกมุมนึงคือมุกตลก หนังเรื่องนี้มีความตลกแบบเดียวกับ The Grand Budapest คือจะพลังงานสูงหน่อย ดราม่ามากหน่อย ตัวละครก็จะมีความเป็นคนมากหน่อย เป็นสิ่งที่เราชอบในทั้งหนังเรื่องนี้และ The Grand Budapest (และเป็นสิ่งที่เราไม่ชอบใน The Royal Tenenbaums และ The Life Aquatic — คือตัวละครมันเป็น abstraction ของคน เป็นไอเดียของด้าน ๆ หนึ่งในตัวคน แทนที่จะเป็นตัวคนแบบธรรมดา ซึ่งเราว่ามันแอ็บสแตร็กไป) ตัวละคร Max นี่เราว่าชอบที่สุดในบรรดาตัวละครเพี้ยน ๆ ของ Wes Anderson ละ ออกแบบมาได้ดีมาก
ทีนี้ก็เหลือบทต่อไป — บทสุดท้าย — Bottle Rocket
81. Doctor Strange (2016)
Tumblr media
เขียนรีวิว (เรียกว่ารีวิวกี่ทีก็ไม่ชินวุ้ย) ไว้ที่นี่ละ
TL;DR ก็คือ ภาพสวยมากกกกกก เนื้อเรื่องตอนแรกน่าเบื่อไปหน่อย แต่ช่วงหลังร่ายเวทย์ใส่กันยังพอลืมความน่าเบื่อของเนื้อเรื่องไปได้บ้าง
แต่ภาพสวยยยยยย
มากกกกกกก
แล้วก็นึกได้อีกอย่างนึงคือ Rachel McAdams เล่นเป็นแฟน/แฟนเก่าของนักเดินทางข้ามเวลาทั้งหมด 4 เรื่องแล้ว (The Time Traveler’s Wife, Midnight in Paris, About Time, Doctor Strange) แค่นี้แหละ นึกได้แล้วไม่รู้จะเอาไปแปะไว้ที่ไหน
82. Wolf Children (2012}
Tumblr media
ลายเส้นสวยกว่าที่คิดมาก ก่อนดูเรานึกว่าหนังเรื่องนี้จะลายเส้นอินดี้ ๆ หน่อย อาจจะออกแนว ๆ Letter to Momo ไรงี้ แต่พอเปิดดูนี่ตกใจ ลายเส้นอนิเมะจ๋ามาก KyoAni มาก ถ้าใครเคยดู Haruhi หรือ K-On คงพอจะนึกออก (สองเรื่องนี้เราไม่เคยดู แต่ถ้าจะให้ยกตัวอย่างแบบ Hyoka งี้ยิ่งไม่รู้จักเข้าไปใหญ่)
นอกจากลายเส้นตัวละครแล้ว ฉากหลังก็ดีงาม อาจจะไม่ถึงระดับ Makoto Shinkai แต่ก็สวยมากเช่นกัน
Wolf Children คือหนังที่ซึ้ง และเราไม่ถนัดเขียนอะไรที่มันซึ้ง ๆ ก็เลยไม่รู้จะเขียนอธิบายยังไง เอาเป็นว่า หนังเรื่อง���ี้คือหนังเกี่ยวกับครอบครัวและความยากลำบากของพ่อแม่
ใส่ความเหนือธรรมชาติเข้าไปหน่อยตรงที่พระเอกและลูกของพระเอกเป็นครึ่งคนครึ่งหมาป่า หนังเรื่องนี้มีความสมจริงอยู่เยอะทีเดียว (เท่าที่หนังเกี่ยวกับการเลี้ยงดูลูกครึ่งคนครึ่งหมาป่าจะสมจริงได้น่ะ) ในขณะเดียวกันก็ทำให้ตัวหนังเองแตกต่างจากหนังครอบครัวทั่วไปด้วยความกึ่งแฟนตาซีของมัน
ช่วงแรกของหนังดูแล้วเครียดเลย สงสารนางเอกต้องมาตกระกำลำบากไม่มีใครคอยช่วยเหลือ เป็นความรู้สึกที่ละครน้ำเน่ามาก แต่หนังสื่อออกมาได้ดีมาก จนบางทีแอบบอกกับหนังว่า หยุดเถ๊อะ มีความสุขได้แล้ว แฮปปี้เอนดิ้งเหอะ ขอร้อง
ปัญหาคือความเครียดที่มันอัดอั้นมาตลอดเรื่อง ดันมาจบแบบง่าย ๆ ไม่มีการปลดปล่อยอารมณ์ ไม่มีไคลแม็กซ์ (จริง ๆ คือมี แต่มันไม่พีกเท่าช่วงแรก) จบแบบดื้อ ๆ เฉย ๆ พล็อตหลายพล็อตก็จบง่ายไป
ครึ่งแรกดูแล้วเครียดไป ครึ่งหลังดูแล้วไม่เครียดพอ
เรื่องมากเนอะคนเรา
83. Adaptation. (2002)
Tumblr media
อืม
พอดูหนังเรื่องนี้จบ เราก็เปิด tumblr แทบจะทันที ความรู้สึกทั้งบวกและลบมันแน่นหัวจนอยากจะแสดงมันออกมาผ่านปลายนิ้วมือที่กรีดรีดไปตามคีย์บอร์ด แต่มันอาจจะไม่ได้ง่ายอย่างงั้น หลังจากที่มองเส้นบาง ๆ แนวตั้งกระพริบได้ราวหกเจ็ดกระพริบ เราถอนหายใจเบา ๆ 
“หนังเรื่องนี้มันพูดถึงโดยไม่สปอยล์ไม่ได้เลยนี่หว่า” เราคิดในใจ “แต่ก็อยากให้คนที่ยังไม่เคยดูได้รู้ว่าหนังเรื่องนี้มันฉลาด มันพิเศษยังไง โดยที่ไม่สปอยล์แกนหลักของเรื่อง”
แล้วความคิดหนึ่งก็แล่นเข้ามาในหัว เหมือนกระแสไฟฟ้าที่เข้ามาเปิดหลอดไฟบนหัวดัง ปิ๊ง
“ทำไมเราไม่เอาจุดเด่นของหนังมาทำเป็นจุดเด่นของรีวิว (หรือจะเรียกท่อนนี้ของโพสนี้ว่าอะไรก็ตาม) ซะเลย ถ้าหนังเรื่องนี้เป็น meta-screenplay เป็นบทหนังเกี่ยวกับตัวมันเอง เราก็เขียนรีวิวนี้แบบ meta ซะเลยสิ!” เราคิดกับตัวเอง ที่มุมปากเกิดรอยยิ้มผยอง เรานี่มันฉลาดฉิบหาย ลูกเล่นแพรวพราวนัก
คิดได้ดังนั้น เราก็ลงมือเขียน พอถึงย่อหน้าที่หก — นึกขึ้นได้ว่าหลังจากนี้อาจมีสปอยล์เลอร์ — เราจึงพิมพ์คำเตือนไว้เป็นตัวหนาว่าต่อจากนี้มีสปอยล์เลอร์
และพิมพ์ต่อ
มาถึงตรงนี้เราเห็นว่าตัวเองพิมพ์มาได้ซักพักแล้ว ยังไม่ได้พูดถึงตัวหนังเลย
ความรู้สึกตอน “เก็ต” ว่าหนังทั้งเรื่องเกี่ยวกับเรื่องราวของคนเขียนบทในการเขียนบทหนังเรื่องนี้มันแบบ mindblowing นิด ๆ อะ
ความลึกของหนังเพิ่มขึ้นไปอีกเมื่อเรารู้ว่า Donald Kaufman ไม่มีตัวตนอยู่จริง การที่ Donald พูดถึงอาการหลายบุคลิก ไปจนถึงการที่ Donald ชอบเขียนหนัง thriller คลิเช่ แล้วพอ Donald มาช่วย Charlie เขียน หนังก็เปลี่ยนแนวไปเป็น thriller ทันที เราว่ามันฉลาดมาก
แถมความ self-aware ของตัวหนังเองอย่างการที่ Robert McKee พูดถึงเสียงบรรยายว่าเป็นสิ่งที่แย่ แต่ตัวหนังเองก็มีเสียงบรรยายตลอด หรือที่ McKee พูดถึง deus ex machina ว่าเป็นเรื่องน่ารังเกียจ แต่ในไคลแม็กซ์ของหนังดันมีไอ้เข้โผล่มาเฉยเลย
ยิ่งคิดมากเท่าไหร่ก็ยิ่งเห็นความฉลาดของหนังมากเท่านั้น
เมื่อละเลงความรู้สึกที่มีต่อหนังจนหนำใจแล้ว เราก็เลื่อนเมาส์ไปหาปุ่มสีฟ้าด้านล่างขวาของหน้าจอ แล้วก็กด Post.
0 notes
spurofmoment · 8 years
Text
ร้อยหนัง: กันยายน
ร้อยหนังคือปณิธานที่ตั้งไว้ตอนปีใหม่ว่าจะดูหนังให้ครบร้อยเรื่องก่อนสิ้นปี ผ่านไปเดือนนึงก็นึกได้ว่าควรเขียนบันทึกไว้
เราจะไม่สปอยล์ (แต่ถ้าไม่ได้ดูเรื่องนั้น ๆ มาก่อนอาจจะอ่านไม่เข้าใจ) ยกเว้นบางเรื่องซึ่งเราจะเตือนไว้ตัวหนา ๆ ว่ามีสปอยล์เลอร์
อ้อ อ่านร้อยหนังของเดือนก่อน ๆ ได้ที่ spurofmoment.tumblr.com/100
67. Good Will Hunting (1997)
Tumblr media
หนังแบบนี้คือเหตุผลหลักที่เราเริ่มโปรเจคร้อยหนัง
“หนังแบบนี้” คือหนังที่ใคร ๆ ก็รู้จัก เราก็รู้จักมาตั้งนานแล้ว ชาวบ้านชาวช่องเขาก็ดูกันหมดแล้วแต่เราดันไม่เคยดู พอตั้งใจจะดูก็ขี้เกียจบ้างล่ะ ไม่รู้จะหาดูจากไหนบ้างล่ะ ขี้เกียจบ้างล่ะ ติดซีรี่ส์บ้างล่ะ
...ขี้เกีย— พอ!
ก็เลยบอกกับตัวเองว่า ปีนี้แหละ จะเอาหนังที่อยากดูแต่ไม่ได้ดูซักทีมากองรวม ๆ กันแล้วไล่ดูให้หมด และ Good Will Hunting ก็เป็นหนึ่งในนั้น
พอดูจบแล้วก็ อือ สมแล้วที่เป็นหนังคลาสสิก
ตอนเราดู A Beautiful Mind เราคิดว่าจะเป็นหนังคณิตศาสตร์เกี่ยวกับนักคณิตศาสตร์ แต่จริง ๆ แล้วไม่ใช่ พอมาเรื่องนี้เราก็คิดว่าจะเป็นหนังคณิตศาสตร์เกี่ยวกับนักคณิตศาสตร์ แ���่พอดูจบแล้วก็ไม่เชิง
Good Will Hunting คือดราม่าที่มีคณิตศาสตร์เป็นฉากหลังเห็นอยู่ไกล ๆ ถ้าจะบอกว่าหนังเรื่องนี้เกี่ยวกับตัวเลขก็คงเหมือนกับบอกว่า The Social Network เกี่ยวกับการเขียนโปรแกรม
หนังทั้งเรื่องคือความเก็บกดของ Will Hunting (เล่นโดย Matt Damon) เพื่อมาปลดปล่อยในสองสามฉาก เห็นได้ว่าแทบทั้งเรื่อง Will ได้สร้างกำแพงล้อมรอบตัวเองไว้อย่างแน่นหนา และหลายคนที่พยายามจะทำลายมัน (อาจารย์ที่ MIT, จิตแพทย์สองสามคนแรก, Skylar) แต่ก็ล้มเหลว
แต่พอกำแพงนั้นพังทลายลง อารมณ์ที่ถูกเก็บล้อมไว้ก็ไหลบ่าออกมา ทำให้หนังมีฉากที่เข้มข้นรุนแรง พอมาสะท้อนกับตัวละคร Sean (เล่นโดย Robin Williams) ก็ยิ่งทำให้การโต้ตอบนั้นปะทุดุเดือดเข้าไปใหญ่
เพราะทั้งสองคนเล่นดีมาก (แหงล่ะ ระดับนี้แล้ว)
ก็คงจะเหมือนหนังคลาสสิกเรื่องอื่น ๆ ที่เราเคยเขียนถึง คือมันดีไปหมด ไม่มีอะไรต้องพูดมากยกเว้นว่าถ้ายังไม่ได้ดูก็ไปดูซะนะ
68. Kubo and the Two Strings (2016)
Tumblr media
เราเขียนรีวิว (แหม รีวิว พูดแล้วกระดากปาก) ไว้ที่มินิมอร์แหละ ไปอ่านกันได้ไม่มีสปอยล์
สรุปง่าย ๆ ว่าเป็นแอนิเมชั่นที่ภาพสวยมากกก อลังการสุด ๆ 
เป็น stop motion ที่บ้าพลังทำ particle มาเยอะแยะ (ถ้าใครทำ 3d จะรู้ว่าการทำ particle system ที่มันซับซ้อนจะยากมาก แล้วนี่ต้องมาทำในโลกจริง ดูไปก็เหนื่อยแทนคนสร้างหนัง)
ที่แย่คือ ณ วันที่เขียน (15 กันยายน) หนังเรื่องนี้ทำรายได้ทั่วโลกไปแค่ 49 ล้านเหรียญ ต่ำกว่าทุนสร้างที่ 60 ล้าน ยังไม่นับค่าโฆษณา (ซึ่งส่วนใหญ่จะไม่คิดรวมอยู่ในทุนสร้าง ถึงเรื่องนี้จะไม่โฆษณามากแต่ค่ามาร์เก็ตติ้งก็คงสูงอยู่) ปกติเราจะไม่ค่อยสนใจตัวเลขพวกนี้ แต่คือหนังเรื่องนี้มีทีท่าว่าจะขาดทุน แล้วถ้าขาดทุน ในอนาคตสตูดิโอก็จะไม่ค่อยอยากสร้างหนังแนวนี้ ซึ่งน่าเสียดายมาก
69. Crazy, Stupid, Love (2011)
Tumblr media
พอมีข่าวเกี่ยวกับหนังเรื่อง La La Land ที่จะเข้าฉายปีหน้า ซึ่งร้อยทั้งร้อยคนที่ดูแล้วบอกว่าหนังดีเลิศมาก เสียงชมกันไม่ขาดสาย ยกยอกันซะจนอยากตีตั๋วไป Toronto Film Festival ให้รู้แล้วรู้รอด
คำชมของหลายคนบอกว่า Emma Stone กับ Ryan Gosling มีเคมีเข้ากันได้ดีเหลือเกิน เราเลยไปหาหนังเรื่องอื่นที่สองคนนี้แสดงด้วยกัน
Crazy, Stupid, Love คือรอมคอม คือหนังที่ประกาศตัวเป็น chick flick อย่างโจ่งแจ้ง
แต่เราก็ไม่อายที่จะบอกว่าเราชอบหนังเรื่องนี้
โอเค อายนิดนึง แต่ก็ชอบอะ
หนังเรื่องนี้ไม่จริงจังกับตัวมันเองมากเกินไป (จริง ๆ ก็ไม่จริงจังเลยแหละ) เป็นหนังตลกที่ดูเพลิน เราจัดให้อยู่ในคลาสเดียวกับ Easy A (คือดีกว่าหนังตลกฝรั่งทั่ว ๆ ไป ซึ่ง 99% ของหนังแนวนี้เราไม่ชอบ)
Ryan Gosling กับ Emma Stone เข้ากันได้ดีจริง ฝั่ง Steve Carell ก็โอเค ไม่ได้ดีถ้าเทียบกับ The Office ไรงี้ แต่ก็ไม่ได้แย่อะไร
ชอบสุดคือฉาก “หักมุม” ฮามาก เหมือนกับผูกเรื่องทุกอย่างให้เข้ากันกลายเป็นพล็อตเดียว ฮาแบบไร้เหตุผล ยิ้มไม่หุบเลย ว่อออ
ตอนจบค่อนข้างคลิเช่ ฉากพิธีจบการศึกษาเราว่าแย่สุดในเรื่องละ แต่โดยรวมสนุกมาก
70. Short Term 12 (2013)
Tumblr media
ดูไปก็ขมวดคิ้วไป
ไม่ใช้เพราะงง แต่เพราะเครียด เพราะเนื้อหาหนักมาก
Short Term 12 ว่าด้วยเรื่องของเจ้าหน้าที่สถานบำบัดเด็กและวัยรุ่นที่มีความเสี่ยงด้านจิตเวช
เราสังเกตว่าหนังไม่ได้สนใจจะพูดถึงเด็กแต่ละคนว่าโดนอะไรมาบ้างถึงถูกส่งเข้ามาในสถานบำบัด แต่เน้นไปที่ผลกระทบกับตัวเด็ก และพฤติกรรมที่เด็กเหล่านั้นแสดงออกมา ช่วงแรกสุดของหนังเราเห็นเด็กคนหนึ่งพยายามวิ่งหนีออกจากสถานบำบัดพร้อมกรีดร้องโวยวาย เด็กบางคนก็เก็บตัวเงียบ บางคนมีพฤติกรรมรุนแรง แต่หลายครั้งเราไม่รู้ว่าอะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดพฤติกรรมเหล่านั้น ซึ่งส่วนนี้เราว่าหนังจงใจ
ความจงใจอีกอย่างคือการที่หนังบอกเรา ผ่านคำพูดหรือท่าทางการกระทำของตัวละคร ว่าตัวละครนั้น ๆ มีมิติลึกกว่าที่เห็นมาก แต่หนังยังไม่บอกว่าความลึกของตัวละครนั้นคืออะไร แล้วค่อย ๆ ปล่อยความหลังออกมาทีละน้อย ๆ ทำให้ในแต่ละฉากเรารู้จักตัวละครเหล่านั้นมากขึ้น
อย่างเช่นความแตกต่างระหว่าง Grace (เล่นโดย Brie Larson) กับ Nate (เล่นโดย Rami Malek) ที่แสดงให้เห็นตั้งแต่ต้นว่า Nate เป็นเด็ก “สมบูรณ์” คือมาจากครอบครัวที่ดี จบมหาวิทยาลัยแล้วอยากมีประสบการณ์ทำงานกับ “เด็กด้อยโอกาส” (ในหนัง Nate ใช้คำว่า underprivileged) การแสดงออกก็จะเก้ ๆ กัง ๆ ส่วน Grace จะมีประสบการณ์มากกว่า เข้าใจเด็กมากกว่า คุยเล่นกันได้
ความแตกต่างนี้ตอนแรกก็ให้เหตุผลได้ว่า Nate นั้นเพิ่งเริ่มงาน อาจจะยังไม่คุ้นชินกับการโต้ตอบกับเด็ก แต่พอดูไปเรื่อย ๆ หนังก็ค่อย ๆ เปิดเผยว่า ความแตกต่างระหว่าง Grace กับ Nate นั้นมีมากกว่านั้นมาก แล้วตัวละครของทั้งคู่ (แต่โดยเฉพาะ Grace) ก็ซับซ้อนมาก ๆ 
ซึ่งก็ต้องชมว่า Brie Larson นั้นแสดงความซับซ้อนนั้นออกมาได้ดี จนหายสงสัยเลยว่าทำไมเจ๊แกได้รับบทนำใน Room
ความกดดันของหนัง บางส่วนก็มาจากภาพ ที่พออารมณ์ของหนังเริ่มเครียดขึ้น ภาพโคลสอัพก็มีให้เห็นมากขึ้นและใกล้ขึ้น ใกล้จนอึดอัด จนหลายครั้งมองไม่เห็นอย่างอื่นนอกจากแววตาของตัวละคร ทำให้ฉากแบบนี้มีพลัง มีความเข้มข้น
แล้วก็ตัดไปที่ฉากเต็มตัวให้พักหายใจ
เป็นหนังอีกเรื่องนึงที่ดูแล้วชอบ แต่คงไม่ดูอีกแล้ว เหนื่อย
71. The Royal Tenenbaums (2001)
Tumblr media
เราไม่เก็ต The Royal Tenenbaums
แบบ เราเข้าใจว่าใครทำอะไรที่ไหนอย่างไร แต่ไม่เข้าใจว่าหนังต้องการสื่ออะไร หรือต้องการสื่ออะไรนอกจากการเล่าเรื่องรึเปล่า เราชินกับธีมครอบครัวแตกแยกพ่อลูกไม่ถูกกันในหนัง Wes Anderson เพราะมีให้เห็นอยู่บ่อย ๆ ทั้งใน The Darjeeling Limited, Fantastic Mr. Fox, The Life Aquatic, แม้กระทั่ง Moonlight Kingdom ด้วยหน่อย ๆ 
...เดี๋ยวดิ มันมีธีมนี้ทุกเรื่องเลยนี่หว่า เพิ่งสังเกต
แต่นั่นแหละ เราพอจะเข้าใจข้อความโดยรวมของหนัง แต่มันถูกสื่อออกมาอย่างพิลึกกึกกือ ฉากที่ดูเหมือนจะไม่มีความสัมพันธ์กับฉากก่อนหน้าหรือฉากต่อไป คำพูดที่บางทีก็เสแสร้ง บางทีก็ดูเป็นมนุษย์มนา ตัวละครที่เหมือนนักแสดงยืนอ่านบทเฉย ๆ บางทีก็กลายเป็นตัวละครที่มีชีวิตชีวาซะอย่างงั้น
หลายครั้งก็พอจะเข้าใจได้ว่านี่มันเป็นสไตล์ของผู้กำกับ หลายครั้งเราก็แก้ตัวแทนหนังได้ว่าตัวละครเหล่านั้นก็คือการกลั่นกรอง (abstraction) ของบุคคลในโลกจริง นำมาพาโรดี้เป็นบทละครว่าชีวิตเราหนอ แท้จริงแล้วก็เป็นแค่ความบ้าบอโต้ตอบกันไปมา
แต่หนังเรื่องนี้มันบ้าบอไป
ขนาดเอามาตรฐานของ Wes Anderson มาวัด The Royal Tenenbaums ก็ยังดูหลุดโลก
เพราะฉะนั้นเราเลยเสียใจเล็ก ๆ ว่าหนังเรื่องนี้อาจจะเป็นหนังเรื่องแรกของ Wes Anderson ที่เราเฉย ๆ ด้วย ไม่ถึงกับไม่ชอบนะ เพราะหลายฉากในหนังก็ทำให้เราหัวเราะได้ และหลายฉากก็มีความเฉลียวฉลาดในตัวของมันเองอยู่
เราเฉย ๆ กับหนังเรื่องนี้โดยยอมรับเต็มที่ว่า เราไม่เก็ต
72. Waking Life (2001)
Tumblr media
เรา... เราสร่างเกินกว่าจะดูหนังเรื่องนี้รู้เรื่อง
ถ้าใครเคยอ่านหนังสือชื่อ “ปลาที่ว่ายในสนามฟุตบอล” ของวินทร์ เลียววาริณ (เราชอบมาก แต่ไม่ได้อ่านมาหลายปีแล้วเพราะเคยอ่านบ่อยจนเล่มขาดยับเยินหมด) Waking Life ก็จะเหมือนหนังสือเล่มนั้นเอามาทำเป็นหนัง บวกความเซอร์เรียลเข้าไปสามกระปุกเน้น ๆ 
คือเป็นหนังที่เซอร์เรียลที่สุดเท่าที่เราเคยดู ไม่เคยดูอะไรที่อาร์ตเท่านี้มาก่อน
เราเตรียมรับมือกับความอาร์ตไว้แล้วเพราะ Richard Linklater เป็นคนกำกับ คิดว่าน่าจะเพ้อเจ้อ ๆ เรื่อยเปื่อยแบบ Before Trilogy (Linklater กำกับเหมือนกัน) แต่ อื้อหือ คิดผิด
Waking Life มีสิ่งที่คล้าย ๆ Before Trilogy อยู่บ้าง เช่นการที่ทั้งเรื่องแทบไม่มีพล็อตเลย เป็นแค่บทสนทนาของตัวละครต่าง ๆ โดยที่บทสนทนาเหล่านั้นก็พูดถึงเรื่องสากกะเบือยันเรือรบ
มีคนอธิบายว่าหนังเรื่องนี้เป็นเหมือนปืนกลที่กราดคอนเซ็ปต์ทางปรัชญาใส่คนดู
ก็จริง เพราะแต่ละเรื่องที่ยกขึ้นมาพูดถึงก็น่าสนใจทั้งนั้น แต่ก็พูดถึงแค่ข้าม ๆ แล้วก็ไปพูดเรื่องอื่นต่อ อย่างมีฉากนึงที่พูดถึงกรอบของภาษา ว่าภาษาจะสื่อถึงความรู้สึกได้อย่างไร ในเมื่อภาษาถูกสร้างขึ้นมาเพื่อความอยู่รอด เช่นสมัยโบราณเราต้องใช้ภาษาในการเตือนคนอื่นว่ามีสัตว์อันตรายกำลังย่างกรายเข้ามา แต่พอเราวิวัฒนาการมาจนถึงปัจจุบัน เราก็เอาภาษาแบบเดียวกันนี้มาสื่อถึงสิ่งที่จับต้องไม่ได้อย่างความรู้สึก ความดีใจ เสียใจ เราจะรู้ได้อย่างไรว่าเวลาเราพูดถึงความสุข คนอื่นจะเข้าใจแบบเดียวกับเรา
คือมันเป็นสิ่งที่หลายคนคงเคยคิดผ่านสมองกันมาบ้างแหละ ไม่มากก็น้อย
บางเรื่องที่พูดถึงก็เป็นวิทยาศาสตร์เชิงอภิปรัชญา อย่างเจตจำนงอิสระ ว่าด้วยการที่จักรวาลถูกกำหนดไว้แล้วผ่านกลไกที่เดินไปตามแรงกระทบของอะตอม ถ้าเรารู้ว่าอะตอมก้อนนี้จะสั่นไปทางไหน เราก็สามารถทำนายได้ว่า ในอีกห้านาทีจะเกิดอะไรขึ้น หรืออีกห้าปี ห้าร้อยปีจะเกิดอะไรขึ้น แล้วตั้งคำถามว่านั่นหมายความว่ามนุษย์เราไม่มีเจตจำนงอิสระใช่หรือไม่ เราไม่สามารถเลือกที่จะทำอะไรได้เลยรึเปล่า เพราะทุกความคิด ทุกการตัดสินใจมันก็เป็นแค่แรงกระทบ แล้วหนังก็เลยไปพูดถึงควอนตัม ถึงความไม่แน่นอนในตำแหน่งและความเร็วของอนุภาค
สำหรับเราที่ชอบเรื่องอะไรพวกนี้อยู่แล้วก็ไม่ใช่อะไรแปลกใหม่ เคยอ่านมาแล้ว เคยคิดมาแล้ว แต่ก็อาจจะจุดประกายให้คนที่ไม่สนใจหันมาลองอ่านดู
ขอเล่าอีกเรื่องนึง ๆ 
อันนี้เป็นบทสนทนาที่ต่อจาก Before Sunrise คือเรื่องการกลับชาติมาเกิด พูดถึงการเพิ่มขึ้นของประชากรในโลกว่า ถ้าแต่ก่อนมีคนบนโลกน้อยกว่านี้ แล้วทุกคนตายแล้วไปเกิดใหม่หมด แล้วทำไมถึงมีคนเพิ่มขึ้นได้ “วิญญาณ” ใหม่ ๆ มาจากไหน หรือจำนวนของวิญญาณมีเท่าเดิม แต่คนสมัยนี้มีวิญญาณแค่ครึ่งเดียวของคนเมื่อสี่สิบปีก่อน เพราะประชากรตอนนี้เทียบกับปี 1970 เพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า ส่วนอีกคนก็ตีความว่าการกลับชาติมาเกิดนั้นเป็นแค่คำเปรียบเปรยที่หมายถึงความรู้ที่ส่งต่อกันจากรุ่นสู่รุ่น เมื่อเราเกิดมาเราก็สามารถเข้าถึงความรู้องค์รวมของมนุษยชาติ
ไรงี้
อย่างที่บอกแหละว่าเรื่องที่หนังพูดถึงแต่ละเรื่องมันอาจจะไม่ใช่สิ่งแปลกใหม่ อาจจะไม่ได้เจาะลึก แต่ก็น่าสนใจดี
73. X-Men: Apocalypse (2016)
Tumblr media
ตอนแรกว่าจะไม่เขียนเกี่ยวกับ Apocalypse แล้ว (มีหนังหลายเรื่องที่เราดูเอาสนุก พอดูจบก็ไม่มีอะไรให้เขียนเลยข้ามไป) แต่พอเห็นคนพูดถึงมาก ๆ เข้าเลยอยากบ่นนิดนึง แต่เราดูมาหลายเดือนแล้ว บางอย่างอาจจะลืมไปบ้าง แล้วก็ ถ้าอินเนอร์มากไปหน่อยก็ขออภัยล่วงหน้า อิ
สิ่งที่อยากบ่นคือ หนึ่ง Bobby Drake หายไปไหนนนน ทำไม original 5 คนอื่นมากันครบหมด Beast, Cyclops, Jean Grey, ขนาด Angel ยังโผล่มา แล้วทำไม Iceman ถูกลืม ไม่เข้าใจจจ หรือเอฟเฟกต์น้ำแข็งมันแพงไปหรือไง เอา Angel ออกไปก็ได้ ขอ Bobby เหอะะะ
แล้วพูดถึง Angel นี่มายังไง เป็นนักสู้กรงเหล็กงี้เหรอ มาด Warren Worthington III หายไปไหน ทั้งเรื่องเป็นแค่ลูกกระจ๊อก ไม่มีบทอะไรเลย บ้าจริง แล้วทำไมอยู่ดี ๆ งอกปีกเหล็กกลายเป็น Archangel ซะงั้น (รึเปล่า) ไม่มีพัฒนาการอะไรเลย
ส่วน Mystique ก็เลือกที่จะปลอมตัวเป็น Jennifer Lawrence ทั้งเรื่อง คือเข้าใจนะว่ามีเหตุผลอธิบายไว้ในเรื่อง แต่มันไม่ใช่อะ มันตรงข้ามกับจุดประสงค์ของตัวละครของ Mystique อะ คือต้องภูมิใจในตัวตน ในความเป็น mutant ของตัวเองดิ blue and proud ไรงี้ดิ แถมมาอยู่ในบทผู้นำทีม ซึ่งมันไม่ใช่ปะ ทำไมไม่ให้ Cyclops นำ ให้ Beast หรือ Xavier นำ เพราะนักแสดงไม่ดังเหรอ แล้วยิ่งบทพูดแบบ “Forget everything you think you know” โอ้โหจะคลิเช่ไปไหน บทพูดเห่ยมาก
Beast ก็มาแนวเดียวกัน ฉีดยาเพื่อให้ตัวเองกลายเป็นคนปกติ ง่ายเนาะ เป็น mutant ที่เป็นคนปกติ แล้วกลายเป็นเฟอร์บี้ได้ตามใจชอบ อืม โอเค
แต่ที่แย่ที่สุดคือชุดดดดดด จะมาชุดสีดำทะมึนทึนทึกอะไร ทุกเรื่องที่ Bryan Singer กำกับเลย จะตัวละครไหนก็ใส่ชุดดำ ๆ เชย ๆ ไม่มีความเป็นเอกลักษณ์ (ซึ่งเป็นจุดเด่นของ X-Men คือการเชิดชูความแตกต่าง be together, not the same งี้) ถ้าบอกว่าชุดสีเหลืองมันดัดแปลงมาใส่ในหนังไม่ได้ก็ดู Deadpool ดิ๊ ทั้ง Colossus ทั้ง Negasonic ใส่ชุดแบบในคอมิก แล้วก็ออกมาดูดีได้อะ
โฮ่ย บ่นล้วน ๆ เลย ฮ่า ๆ พอละพอ
74. The Art of Getting By (2011)
Tumblr media
หนังแนว coming of age ที่เล่าถึงตัวเอกที่มีอุปนิสัยผิดแผกไปจากสิ่งที่สังคม (วัยรุ่น) ทั่วไปยอมรับ แล้วไปประสบพบเจอเหตุการณ์หรืออุปสรรคบางอย่างที่ทำให้ตัวตนของเขาหรือเธอเปลี่ยนแปลงไปจากตอนต้นเรื่อง มักจะจบได้สองทาง คือหนึ่ง ตัวเอกกลายเป็นคนที่ดีขึ้น ถ้ามีจุดบกพร่อง จุดบกพร่องนั้นก็อาจจะถูกแก้ไป เช่น ถ้าเป็นตัวละครที่ชอบรังแกคนอื่น ตอนจบเรื่องก็อาจจะสำนึกผิด รู้จักเข้าใจความรู้สึกของคนอื่นมากขึ้น
อีกทางหนึ่งคือตอนจบที่ “ไม่สวย” คือจบเรื่องแล้วตัวเอกกลับมาอยู่ที่เดิม (ในเชิงพัฒนาการของตัวละคร) หรือยิ่งไปกว่านั้นคือแย่ลงกว่าเดิม เช่นถ้าต้นเรื่องตัวเอกเป็นคนขี้อาย เข้าสังคมไม่เป็น หนังอาจจะจบด้วยการที่ตัวเอกอยู่เหงา ๆ คนเดียวเหมือนเดิม
และเราก็คิดมาตลอดว่า ตอนจบแบบ “ไม่สวย” นั้น มีเมตตาต่อคนดูมากกว่าแฮปปี้เอนดิ้งหลายเท่านัก
เพราะมันสื่อถึงความเป็นคนได้ดีกว่า เนื้อเรื่องในหนังอาจจะกินเวลาสองสามเดือน เหตุการณ์ในหนังอาจจะมีผลกระทบต่อตัวละครจนทำให้เขาหรือเธอได้มีมุมมองต่อชีวิต ต่อตัวเองและคนอื่นที่เปลี่ยนไป แต่สำหรับคนดูแล้ว ช่วงเวลาหนึ่งชั่วโมงครึ่งถึงสองชั่วโมงของการดูหนังเรื่องนึงมันไม่พอสำหรับความเปลี่ยนแปลงขนาดนั้น
ถ้าคนดู relate กับตัวละครตอนต้นเรื่อง แล้วปลายเรื่องตัวละครนั้น ๆ เกิดบรรลุสัจธรรมอะไรบางอย่างขึ้นมา แล้วเปลี่ยนไปเป็นคนที่ “ดีขึ้น” ก็เท่ากับว่าหนังได้ทรยศความ relatability ในตอนแรกไปรึเปล่า ?
ถ้าเราดูหนังแล้วฉากสุดท้ายเป็นภาพของตัวเอกที่มีความสุข พอเครดิตขึ้นแล้วเรามองเห็นตัวเองผ่านเงาสะท้อนของจอ พบว่าตัวเราเองยังอยู่ที่เดิม ชีวิตของเราก็เหมือนเดิม มันเหมือนโดนทอดทิ้งไหม
เราเลยชอบตอนจบแบบ bad ending เพราะมันปลอบใจเราว่า เราไม่ได้อยู่คนเดียวอยู่คนเดียว
แต่ The Art of Getting By จะจบยังไงนั้นไปดูกันเอาเอง พูดถึงตอนเริ่มเรื่องดีกว่า
หนังเล่าถึง George (เล่นโดย Freddie Highmore) เด็กมอปลายผู้มีแนวคิดสุญนิยม (nihilism — แนวคิดที่ว่าทุกอย่างไร้ความหมาย สิ่งที่อยู่ระหว่างการเกิดและความตายคือมายาคติ... ประมาณนั้น) เมื่อไปเจอกับ Sally (เล่นโดย Emma Roberts) ก็ได้อาจจะหรืออาจจะไม่ทำให้เขาได้รู้ถึงความหมายและความสวยงามของชีวิต
แต่นั่นก็ — เหมือนวัยรุ่นทั่วไป — คือตัวตนที่ George ต้องการนำเสนอต่อชาวโลก
จุดที่เด่นที่สุดของหนังเรื่องนี้สำหรับเราคือ characterisation ของ George ออกแบบมาได้ดีมาก เข้าใจและเข้าถึงมาก เป็นตัวละครที่เราจะไม่สงสัยเลยถ้าบอกว่ามีคนแบบนี้อยู่จริงในโลก และคำพูดพวกนี้ การกระทำเหล่านี้เกิดขึ้นจริง ทุกอย่างมันสมจริงมาก อาจจะเป็นแค่เราก็ได้ แต่เราเห็นตัวเราเองใน George ทั้งความ (พยายามจะ) edgy ไม่แคร์ใคร ไปจนถึงการนั่งวาดรูปในห้องเรียน ไปจนถึงทัศนคติคิดมากที่ก็ เหมือนเดิม เป็นด้านที่หันสู่ชาวโลก
ส่วนลักษณะตัวตนที่แท้จริงก็เห็นได้แว้บ ๆ อย่างการที่ George จะเข้าไป “เกาะ” กับคนที่ตัวเขาเองคิดว่าคูล เช่น Sally หรือ Dustin ที่เป็นเหมือนบุคคลต้นแบบในสายตาเขา เป็นคนที่เขาอยากจะเป็น ถึงแม้ว่าตัว George เองจะบอกกับ Sally ว่าเขาเป็น misanthrope (คนที่ไม่ชอบมนุษย์มนา) ก็ตาม
เป็นหนังที่ปั้นตัวละครได้เก่งมาก และน่าเอามาทำ character analysis อย่างยิ่งยวด
แถมยังภาพสวยอีก
หลาย ๆ ฉากถูกคั่นด้วยช็อตของถนนเมืองนิวยอร์ก ที่สร้างบรรยากาศให้กับหนังทั้งเรื่อง แถมหนังชอบเอาตัวละครมาไว้ตรงริมเฟรม แล้วปล่อยที่เหลือว่าง ๆ อย่างในรูปข้างบน บางทีเวลาเราถ่ายรูปเราก็ชอบเว้นที่ไว้แบบนี้เหมือนกัน ชอบ สวยดี
หนังแทบทั้งเรื่องถูกถ่ายในช่วงเวลาโพล้เพล้ไปจนถึงดึกดื่น มันเลยมีสีฟ้าหม่น ๆ ครอบอยู่ คือแค่สีก็เหงาแล้วอะ
เรายกให้หนังเรื่องนี้อยู่ระดับเดียวกับ The Perks of Being a Wallflower เลย คือระดับสูงสุด อยากดูอีกหลาย ๆ รอบ
0 notes
spurofmoment · 8 years
Text
ร้อยหนัง: สิงหาคม
ร้อยหนังคือปณิธานที่ตั้งไว้ตอนปีใหม่ว่าจะดูหนังให้ครบร้อยเรื่องก่อนสิ้นปี ผ่านไปเดือนนึงก็นึกได้ว่าควรเขียนบันทึกไว้
เราจะไม่สปอยล์ (แต่ถ้าไม่ได้ดูเรื่องนั้น ๆ มาก่อนอาจจะอ่านไม่เข้าใจ) ยกเว้นบางเรื่องซึ่งเราจะเตือนไว้ตัวหนา ๆ ว่ามีสปอยล์เลอร์
อ้อ อ่านร้อยหนังของเดือนก่อน ๆ ได้ที่ spurofmoment.tumblr.com/100
59. Children of Men (2006)
Tumblr media
ฉาก long take ช่วงเกือบจบเรื่องคือหนึ่งในฉากที่ทรงพลังมากที่สุดที่เราเคยเห็นในภาพยนต์
เราว่าจุดเด่นของหนังเรื่องนี้อยู่ที่การถ่ายทำ เทคนิกที่มีให้เห็นอยู่หลายครั้งคือการเดินกล้องตามตัวเอกไปเรื่อย ๆ แล้วอยู่ ๆ ก็ผละออกไปถ่ายอย่างอื่น แล้วกลับมาตามตัวเอกต่อ อย่างตอนช่วงแรก ๆ ของเรื่อง กล้อง “แวะ” ไปถ่ายผู้อพยพในกรงข้างชานชาลา หรือช่วงท้ายเรื่องในค่ายผู้อพยพ มันเป็นการกระชากคนดูออกจากบทบรรยายของเรื่อง (narrative) ไปหาสิ่งรอบข้าง เป็นการสร้างบรรยากาศโดยที่ไม่ต้องอธิบายเป็นคำพูด ที่สำคัญคือหนังไม่ใช้เทคนิกนี้บ่อยเกินไปจนน่ารำคาญ แต่การกระชากนี้มาได้ถูกจังหวะมากในแต่ละครั้ง
และการสร้างโลกได้อย่างน่าจดจำแบบนี้เองที่ทำให้โลกของ Children of Men ดูสมบูรณ์ และเป็นไปได้จนน่ากังวล ทุกอย่างที่เกิดขึ้นมันจริงจัง มันมีผลกระทบ
โลก dystopia ในหนังมาจากการล่มสลายของอารยธรรมมนุษย์ในอนาคตอันใกล้ มีเพียงสหราชอาณาจักรเท่านั้นที่ (ยัง) อยู่รอด ผลคือกลุ่มผู้อพยพมหาศาลแห่เข้าประเทศ ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำระหว่างผู้อพยพกับคนท้องถิ่น หนังไม่ได้พยายามปิดบังความสมมุติของตัวมันเอง แต่พอนำภาพในหนังมาเปรียบเทียบกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง เหยื่อสงครามจริง เมืองร้างจริง ความเกลียดชังที่เกิดขึ้นจริง หนังไม่ได้เข้าข้างใคร และเราก็ไม่ได้เข้าข้างใคร เพราะข้อมูลไม่แน่นพอจะตัดสินอะไรใครได้
แต่ก็นั่นแหละ มันจริงมากจนน่ากลัว
60. Suicide Squad (2016)
Tumblr media
นี่คือการเขียนถึงหนังเรื่องนี้เป็นรอบที่สาม รอบแรกเขียนรีวิวแบบไม่สปอยล์ที่นี่ ส่วนแบบสปอยล์อ่านได้ที่นี่ ไม่รู้จะจริงจังอะไรมากมายขนาดนี้
ก็สรุปสั้น ๆ ได้ว่าไม่ชอบการตัดต่อ สะเปะสะปะมาก แต่ฮาร์ลี่ย์บทดี เด่นคับจอ (อะไรคับ...)
61. Batman Begins (2005)
Tumblr media
เราน่าจะดู Batman Begins ไปประมาณสามสี่รอบได้แล้วมั้ง แต่ดูแค่ทีละนิดหน่อย ไม่เคยดูต้นยันจบซักที ด้วยเหตุผลใด ๆ ก็ตาม
แต่เหตุผลนั้นไม่ใช่ว่า Batman Begins เป็นหนังไม่ดีแน่นอน
ไตรภาคแบทแมนของโนแลนนั้น แต่ละเรื่องมีธีมที่ชัดเจน อย่าง The Dark Knight Rises ก็มีธีมเรื่องความเจ็บปวด ส่วน The Dark Knight ก็จะวนเวียนอยู่กับความไร้กฏระเบียบ โดยหนังเรื่องนี้พูดถึงความกลัวเป็นหลัก ซึ่งธีมของแต่ละเรื่องถูกแสดงให้เห็นได้โดยตัวร้ายหลักคือ Bane, Joker และ เอ่อ Scarecrow?
คือ Ra’s al Ghul นี่เป็นตัวละครที่สำคัญกับจุดกำเนิดของมนุษย์ค้างคาว แต่ก็ดันน่าเบื่อซะจนแม้แต่โนแลนก็ต้องเบือนหน้าหนี เอามาสร้างหนังคนเดียวโดด ๆ ไม่ได้ ต้องดึง Scarecrow มาด้วย ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องผิดอะไร แต่เราว่าความไม่ชัดเจนของโครงสร้างการเล่าเรื่องนี้ทำให้ Batman Begins เป็นหนังโนแลนที่ไม่ค่อยโนแลนเท่าไหร่
แต่นอกจากนั้นก็ชอบแหละ
62. Spy (2015)
Tumblr media
เห็นหลายคนชื่นชม Jason Statham ในหนังเรื่องนี้ว่ามีสปิริต เล่นหนังล้อเลียนตัวเองได้ ไม่จริงจัง ไม่วางมาดมากเกินไป ฟังแล้วก็ เอ่อะ คำชมเหมือนชมเด็ก ฮ่า ๆ
แต่เอาจริงเราก็ชอบ Spy นะ ในฐานะหนังเบาสมอง ดูไปหนุก ๆ ไม่ต้องคิดอะไรมาก Statham บทน้อยกว่าที่คิด แต่ก็เล่นดี
มุกตลกก็ฮาบ้างแป้กบ้าง หยาบกร้านบ้างแต่โดยรวมก็ดี
เขียนได้แค่นี้จริง ๆ อะแหละ 
63. The Life Aquatic with Steve Zissou (2004)
Tumblr media
หนังเรื่องที่สี่ของ Wes Anderson กับภารกิจของเราที่จะไล่ย้อนดูหนังของเฮียแกให้ครบทุกเรื่อง
เราชอบเรื่องนี้นะ ชอบแบบไม่ต้องใส่ใจว่าใครเป็นคนกำกับ เพราะเอาจริง ๆ ภาพมันไม่ได้สมมาตรเป๊ะเช๊ะเหมือน The Grand Budapest Hotel ไม่ได้ชวนฝันแบบ The Darjeeling Limited แต่หนังเรื่องนี้ก็มีเอกลักษณ์ในตัวมันเอง พวกสัตว์ทะเล CGI อาจจะแปลก ๆ ไปหน่อยแต่ก็ช่วยทำให้โลกที่หนังสร้างขึ้นมามันสดใสขึ้น เหมือนใครแอบเอาหนังสือนิทานมาสร้างเป็นหนัง
แต่เรื่องที่ต้องใส่ใจว่าใครเป็นผู้กำกับก็มี เช่นเรื่องบทพูด
เท่าที่ดูมา The Life Aquatic นี่เป็นหนังที่บทพูดมีสไตล์ Wes Anderson สุด ๆ ละ ซึ่งเอาจริง ๆ ไม่ใช่เรื่องดีนะ การที่ตัวละครพูดกันแบบแปร่ง ๆ ห้วน ๆ กับการแสดงสีหน้าน้อย ๆ มันเป็นเอกลักษณ์ แต่บางทีมันก็ทำให้ตัวละครขาดความเป็นมนุษย์มนา อย่างหลาย ๆ ฉากที่ตัวละครของ Bill Murray กับ Owen Wilson คุยกัน มันเหมือนคนมาท่องอาขยานใส่กันมากกว่าคนคุยกันแบบปกติ ถ้าจะทำสไตล์นี้เราว่าลดความเข้มข้นให้เหลือระดับเดียวกับ Moonlight Kingdom พอละ เรื่องนี้ฟิลเตอร์หนักไป
แต่นอกจากนั้นก็ชอบหมดแหละ คือพอพูดถึงหนัง Wes Anderson แล้วมีอะไรที่เราไม่ได้บอกว่าไม่ชอบ ก็แปลว่าเราชอบอะ ชอบเป็น default
อ้อ แถม Owen Wilson สำเนียง Kentucky มันฟังแล้วบันเทิงชอบกล
64. Little Miss Sunshine (2006)
Tumblr media
Little Miss Sunshine คือผลลัพธ์ของการเอาตัวละครที่น่าสนใจหลาย ๆ คนมายัดใส่ในเนื้อเรื่องที่เรียบง่ายและชัดเจน
เพราะเนื้อเรื่องนั้นจริง ๆ ไม่มีอะไรเลย หนังเล่าถึงครอบครัวนึงที่ขับรถจากนิว แม็กซิโกถึงแคลิฟอร์เนีย แค่นี้แหละ แต่เสน่ห์ของหนังเรื่องนี้มาจากความมีสีสันของตัวละครในเรื่อง และการโต้ตอบกันระหว่างตัวละครเหล่านั้น
ตลอดเรื่องเราก็ได้เห็นความฝันของตัวละครแต่ละคนเป็นจริง (หรือไม่เป็นจริงก็ขอไม่สปอยล์) ตั้งแต่คนพ่อที่ต้องการขายหนังสือประเภท “ทางลัดสู่ความสำเร็จ” คนพี่ที่ต้องการเป็นนักบิน ลุงที่อยากจะฟื้นตัวจากการพยายามฆ่าตัวตาย หรือตัว Olive เองที่ต้องการจะชนะการประกวด Little Miss Sunshine
ตัวละครทุกคนมีเป้าหมายที่สื่อออกมาชัดเจน มีนิสัยและการพัฒนาการจากต้นเรื่องถึงท้ายเรื่อง นี่คือสิ่งที่หนังทำได้ดีมาก ความชัดเจน
ที่ชอบอีกอย่างคือความแตกต่างระหว่างโทนของหนังที่ฟีลกู้ด ๆ กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในหนัง
Little Miss Sunshine อาจจะมีโทนสีเหลืองอุ่น อาจจะดูเหมือนหนังครอบครัว รวมกันเราอยู่ กอดคอกันเข้าเส้นชัย แต่อย่าเข้าใจผิดคิดว่าหนังเรื่องนี้ฟีลกู้ดเชียว
และหนังก็แสดงให้เห็นตั้งแต่ต้นเรื่องด้วยฉากคุณปู่สูดโค้ก
ส่วนตัวเราไม่ชอบตอนจบเท่าไหร่ คือเราก็ไม่ชอบการเอาเด็กมาประกวดนางงามอยู่แล้ว ยิ่งมาเจอแบบในหนังก็ แอ่ก (เข้าใจว่าหนังต้องการให้เกิดรีแอ็กชั่นแบบนี้ แต่ก็แอ่กอยู่ดี)
65. 5 Centimeters Per Second (2007) (Re-watch)
Tumblr media
อยู่ดี ๆ ก็นึกอยากดูซ้ำเป็นรอบที่สี่ อาจจะเป็นเพราะผลงานเรื่องใหม่ของ Makoto Shinkai (Kimi no Na wa (Your Name)) กำลังจะออกฉาย
เรายกให้ 5 cm/s เป็นหนังหวานขมตัวอย่าง คือพอดูหนังเรื่องอื่นที่มีรสชาติหวานขมผสมอยู่ ก็อดที่จะเอามาเทียบกับเรื่องนี้ไม่ได้
ด้านภาพนั้นได้สรรเสริญไว้ตอนเขียนเรื่อง Garden of Words (ผู้สร้างคือ Makoto Shinkai คนเดียวกัน) อย่างมากมายมหาศาลแล้ว โดยภาพเรื่องนี้ก็ไม่แพ้กัน เอาเป็นว่าสมญานาม 5 Wallpapers Per Second ไม่ได้ผิดไปจากความเป็นจริงเท่าไหร่
ที่อยากเขียนเกี่ยวกับหนังเรื่องนี้เพราะพอมาดูซ้ำรอบนี้ เราพบว่าหนังเรื่องนี้บทพูด (ในเชิงตัวละครพูดกัน ไม่นับเสียงบรรยาย) น้อยมาก เนื้อเรื่องก็แทบไม่มี แถมช็อตส่วนใหญ่ก็เป็นภาพทิวทัศน์หรือสิ่งของ
แต่ทำไมความไม่มีอะไรมันถึงได้เศร้าโศกขนาดนี้ หรือว่าช่องว่างระหว่างฉากมันกว้างพอจะให้คนดูเติมอารมณ์ของตัวเองเข้าไป
อีกอย่างที่เพิ่งสังเกตเห็นคือ parallel ระหว่างองก์ที่สองและองก์อื่น คือก่อนหน้านี้เราไม่ค่อยชอบองก์สองเท่าไหร่ เพราะมันดูไม่สัมพันธ์กับเนื้อเรื่องโดยรวม แต่พอเห็นความเหมือนกันหลาย ๆ อย่าง เช่นโมทีฟของรถไฟ ที่ในองก์สองก็มีรถไฟขนชิ้นส่วนกระสวยอวกาศขับผ่านตัวเอก และการที่ Sumida อยู่ฝั่งเดียวกับพระเอก แต่ในฉากแรกและฉากสุดท้าย Akari อยู่อีกฝั่งนึงของรางรถไฟ เราว่ามันสื่อถึงความต้องการจะไขว่คว้าของพระเอกได้อย่างแนบเนียน
คือจริง ๆ มันก็คงเป็นความจงใจที่ชัดอยู่แล้วละมั้ง แต่เพิ่งมาสังเกตก็คราวนี้
มันมีช่วงนึงในชีวิตเราที่เคยอยู่ในประเทศที่การเดินทางโดยรถไฟพอจะมีความโรแมนติกอยู่บ้าง คืออย่างน้อยก็ไม่ต้องกลัวแมลงสาบจะมาไต่ตอมตอนเผลอหลับเหมือนรอฟอทอน่ะ
นั่นแหละ คือช่วงนั้นในชีวิตเราที่เคยนั่งรถไฟเกือบทุกวัน พอนั่งคนเดียว รถไฟโล่ง ๆ เราก็จะนึกถึงหนังเรื่องนี้ตลอด นั่งมองต้นไม้เนินเขาผ่านสายตาไปเรื่อย ๆ บางทีก็มีหยาดฝนไหลทะแยงอยู่นอกหน้าต่าง ในหัวก็จะมีเพลง One More Time, One More Chance เล่นวนไปเรื่อย ๆ
มันเป็นความรู้สึกที่รู้สึกง่าย แต่อธิบายยาก
สุดท้ายคือพอเพลงจบ พอหนังจบ ก็จะรู้สึกอึน ๆ จะเศร้าฟูมฟายก็ไม่ใช่ เพราะมันเป็นการลงเอยที่มีเหตุผลเหลือเกิน แต่ก็สลดเหลือเกิน
แล้วก็อยากจะดูซ้ำอีกรอบ
66. Foxcatcher (2014)
Tumblr media
Foxcatcher คือหนังที่ว่าด้วยชีวิตของมหาเศรษฐี John du Pont (เล่นโดย Steve Carell) กับการซื้อตัวนักมวยปล้ำโอลิมปิก Mark Schultz (เล่นโดย Channing Tatum) และ Dave Schultz (เล่นโดย Mark Ruffalo) เข้าร่วมทีม Foxcatcher
ก่อนอื่นเลยขอชมคนทำเม้กอัพให้ Steve Carell ก่อน โหดมาก เหมือนใส่หน้ากากเลย
การแสดงของสามคนนี้ทำได้ดี โดยเฉพาะ Steve Carell ที่ดึงเอาความ awkward ของ John du Pont ออกมาได้เต็มมาก
เราชอบที่หนังไม่แสดงให้เห็นชัดว่าใครรู้สึกยังไงกับคนอื่น หลาย ๆ ครั้งเราไม่แน่ใจว่า John ยังอยากได้ Mark อยู่ในทีมอีกหรือไม่ หรือ John ชอบหรือไม่ชอบ Dave เราว่ามันทำให้ตัวละครคาดเดายาก และ payoff ในแต่ละครั้ง (อย่างตอนที่ John พูดว่า “Use your stomach” แล้ว Mark ปัดมือของ John ทิ้ง) มันรุนแรงและเฉียบขาด
ตอนแรกเราไม่ค่อยชอบการเล่าเรื่อง ที่ตอนต้นเรื่องเน้นไปที่ Mark แต่ท้ายเรื่องดันเปลี่ยนไปโฟกัส John และ Dave คือสรุปแล้วจะเล่าถึงใคร
แต่พอเจอตอนจบปุ๊บ อืม โอเค เข้าใจ ฉันเข้าใจทุกอย่าง
ถ้าใครอยากดู แนะนำว่าอย่าเพิ่งไปหาประวัติของคนเหล่านี้มาอ่าน ไว้รอดูจบ... แล้วหายช็อกก่อน
0 notes
spurofmoment · 8 years
Text
สิ่งที่นึกได้ตอนดู Suicide Squad
Tumblr media
1. ไปดูรอบเช้า ในโรงมีคนประมาณสิบกว่าคน สวรรค์ชัด ๆ
2. ถ้าอยากอ่านแบบไม่มีสปอยล์เลอร์ (เรียบเรียงดีกว่าด้วย) อ่านได้ที่นี่เน่อ ส่วนโพสนี้สปอยล์เต็มเรื่องนะ
3. ไม่ชอบการตัดต่ออย่างร้ายแรง ฉากแรก ๆ ที่แนะนำตัวละครเช้ยเชย แถมแนะนำตัวละครไม่หมดอีก ตัวละครที่ไม่สำคัญ (อย่างสลิปนอท) ไม่ถูกพูดถึง��อนต้นเรื่อง ยิ่งทำให้ไม่สำคัญลงไปอีก
4. แถมพอสลิปนอทเข้าฉาก เฮียแกก็ได้คำแนะนำตัวแค่ประโยคเดียวสั้น ๆ คือ “เขาปีนป่ายได้ทุกอย่าง” ความสามารถนี่มันอะไร๊ แล้วอยู่แค่ไม่กี่ฉากก็โดนฆ่าตาย คือแบบ จุดประสงค์ของสลิปนอทนี่คือควรทำให้คนดูเข้าใจถึงความจริงจังของวอลเลอร์ใช่มะ คือคำว่า Suicide ใน Suicide Squad ใช่มะ แต่เอาเข้าจริงมันไม่ทำให้คนดูเกิดอารมณ์อะไรเลย เพราะคนดูไร้ความรู้สึกผูกพันกับตัวละครนี้อย่างสิ้นเชิง
5. คือแบทแมนมีบทมากกว่าสลิปนอทอะเฮ้ย
6. ตัวละครอีกหลายตัวในทีมก็ไร้บท อย่างพี่เหี้ยมสำเนียงออสซี่ พี่เหี้ยมที่อยากว่ายน้ำ พี่เหี้ยมที่ไม่อยากว่ายน้ำ พี่เหี้ยมถือดาบ เป็นแค่นั้นจริง ๆ คือไม่รู้จะใส่มาทำไม
7. ลูกสาวของเดดช็อตมีบทมากกว่าสลิปนอทอะ...
8. ฉากเดอะ แฟลช เซอร์ไพรส์มาก ไม่คิดว่าจะโผล่มาในหนังเรื่องนี้
9. ฮาร์ลี่ย์ ควินน์ถึงบทพูดบางฉากจะ cringe ๆ ไปบ้าง แย่งซีนไปบ้าง แต่รวม ๆ แล้วเราชอบนะ มาร์โก้ร็อบบี้แสดงดี บ้า ๆ จิตหลุดดี
10. โจ๊กเกอร์... ทำไมกลายเป็นมาเฟียกิ๊กก๊อกไปแล้วล่ะ แล้วฉากที่อยู่ในเทรลเลอร์หายไปไหนหมด
11. ชอบเสียงหัวเราะของจาเร็ด เลโต้ มีเอกลักษณ์แต่ก็คงความเป็นโจ๊กเกอร์ได้ดี
12. อแมนด้า วอลเลอร์นี่ถึงแก่นจริง ๆ ตอนแรกเหมือนจะโหดเหี้ยม ทำทุกอย่างเพื่อให้ภารกิจสำเร็จงี้ แต่หลัง ๆ มานี่ความเลวล้วน ๆ นี่แหละคือ The Wall
13. มี Chekhov’s Gun แขวนไว้เต็มเลยแต่ไม่เคยเอามายิง อย่างตุ๊กตาของบูมเมอแรงก็ชงตั้งหลายครั้ง (ตอนแนะนำตัว ตอนทำตุ๊กตาหล่น) แต่ชงแล้วไม่ตบ payoff อยู่ที่ไหน
14. เอนแชนเทรส... เรา... ไม่รู้ดิ มาเต้นระบำฮาวายตอนหลังนี่เราไม่ค่อยอิน แต่ชอบตอนแปลงร่าง ที่เป็นมือซ้อนออกมาอะ อธิบายไม่ถูกแต่ถ้าดูแล้วน่าจะจำฉากนั้นได้ เท่มาก
15. ที่เท่มากอีกฉากนึงคือตอนเดดช็อตยืนบนรถแล้วยิงลูกกระจ๊อกทีละตัว
16. ทำไมต้องสู้กันตอนกลางคืน บางฉากนี่มืดจนมองไม่เห็น มีฉากใต้น้ำอีก ตอน BvS ก็เหมือนกัน
17. ฉาก flashback ตอนก่อนสู้กับเอนแชนเทรสมันผิดที่ผิดทางแปลก ๆ อะ อยู่ดี ๆ ก็ flashback แล้วก็ไม่เคยถูกพูดถึงอีกเลย
18. รอยสักรูปปากตรงง่ามนิ้วของโจ๊กเกอร์ยังมีบทมากกว่าสลิปนอทอีกอะ
0 notes
spurofmoment · 8 years
Text
ร้อยหนัง: กรกฎาคม
ร้อยหนังคือปณิธานที่ตั้งไว้ตอนปีใหม่ว่าจะดูหนังให้ครบร้อยเรื่องก่อนสิ้นปี ผ่านไปเดือนนึงก็นึกได้ว่าควรเขียนบันทึกไว้
เราจะไม่สปอยล์ (แต่ถ้าไม่ได้ดูเรื่องนั้น ๆ มาก่อนอาจจะอ่านไม่เข้าใจ) ยกเว้นบางเรื่องซึ่งเราจะเตือนไว้ตัวหนา ๆ ว่ามีสปอยล์เลอร์
อ้อ อ่านร้อยหนังของเดือนก่อน ๆ ได้ที่ spurofmoment.tumblr.com/100
51. Dr. Strangelove or: How I Learned to Stop Worrying and Love the Bomb (1964)
Tumblr media
Dr. Strangelove คือความกล้าบ้าบิ่นของ Stanley Kubrick ที่ทำหนังล้อเลียนสงครามเย็น ในช่วงที่ความตึงเครียดเรื่องสงครามนิวเคลียร์มากถึงขีดสุดในปี 1962-1964
นี่คือหนัง Kubrick เรื่องแรกที่เราดู ซึ่งเราก็ไม่แน่ใจนักว่ามันจะเป็นตัวแทนของหนัง Kubrick เรื่องอื่นได้รึเปล่า หรือจะเป็นเรื่องเดียวที่แหวกแนวออกมา เหมือนกับถ้าอยากจะดูหนังของ George Miller เพราะได้ยินคนพูดกันว่า Happy Feet, Babe สนุกดี แต่เรื่องแรกที่เลือกดูดันเป็น Mad Max: Fury Road ไรงี้...
มุกตลกเกือบทั้งหมดเป็นตลกร้ายที่ดาร์กมาก ๆ และจะยิ่งดาร์กขึ้นไปอีกหลายสิบเท่าตัวถ้าดูหนังเรื่องนี้ในปี 1964 เพราะหนังพูดถึงประเด็นที่ว่า ชะตากรรมของโลกใบนี้ จริง ๆ แล้วมันตกอยู่ในมือของผู้ชายโง่ ๆ ไม่กี่สิบคนในห้องบัญชาการ โดยที่ผู้ชายพวกนี้จะเผลอไปกดปุ่มทำลายล้างโลกวันรุ่งพรุ่งนี้ก็ไม่มีใครรู้ ฮ่า ฮ่า ตลกใช่ไหมล่ะ
และที่ต้องย้ำว่าผู้ชายเพราะ Dr. Strangelove พาโรดี้ misogyny (ความเกลียดชังผู้หญิง) ในสมัยนั้นได้เจ็บแสบมาก จนไม่รู้ว่าสรุปแล้ว Kubrick แค่ล้อเลียนหรือปู่แกคิดอย่างงั้นจริง ๆ
แต่ก็นั่นแหละ ตอนแรกเราคิดว่าหนังเก่าแล้วมุกจะเชย ๆ แต่สุดท้ายเราชอบหนังเรื่องนี้นะ ไม่ถึงกับต้องบูชาหรือสรรเสริญอะไร คงเป็นเพราะเราดูหนังเรื่องนี้ใต้ร่มเงาของความสงบในปี 2016 (สงบในที่นี้คือไม่มี doomsday machine ที่รอคอยการทำลายล้างโลก (เท่าที่รู้นะ (ถ้ามีจริงก็ เอ่อ บาย)))
52. Batman v Superman: Dawn of Justice (2016)
Tumblr media
ตอนหนังเรื่องนี้ออกใหม่ ๆ มีแต่คนบอกให้รอ director’s cut เหมือนกับ Watchmen หนังอีกเรื่องนึงของ Zack Snyder ที่ director’s cut ดีกว่า theatrical cut เป็นไหน ๆ 
เขาว่ากันว่างั้น
เราก็เลยรอ จน Ultimate Cut ออก เป็นเวอร์ชั่นความยาว 3 ชั่วโมง เพิ่มฉากหลายฉากมาให้ดูรู้เรื่องมากขึ้น
เขาว่ากันว่างั้น
เฮ้ย เราว่าหนังเรื่องนี้ไม่แย่อย่างที่หลายคนบอกนะ
ฉากต่อสู้ทำได้ดีมาก การเคลื่อนไหวโดยเฉพาะ Batman ตอนเคลื่อนไปตามเพดาน หรือตอนที่เกาะอยู่ข้างตึก เราว่ามันมีไดนามิกของหนังสือการ์ตูน ส่วน Wonder Woman ก็เคลื่อนไหวได้มีพลัง
ภาพก็สวยตามสไตล์เฮียสไนเดอร์ แถมหนังเรื่องนี้มีมากกว่าสองสีแล้ว!
ฟังไม่ผิด! หนังของสไนเดอร์มีหลายสี! นี่มันปาฏิหาริย์!!
ด้านการเล่าเรื่อง เราว่าก็ดีพอใช้ได้ แค่เราไม่ค่อยโอเคกับความขัดแย้งแบบจับยัด แบบที่ตัวละครนัดต่อยกันเพราะต่างฝ่ายต่างรู้ข้อมูลด้านเดียว โดยเฉพาะถ้าไอเดียพื้นฐานมันดีอยู่แล้ว ลองนึกดูว่าหนังเรื่องนี้ถูกเล่าเป็นเรื่องราวของพระเจ้าปะทะมนุษย์ แค่นี้ก็เกิดข้อขัดแย้งแล้ว ไม่เห็นต้องมี Lex Luthor มาชงเลย ไม่เห็นต้องมี Doomsday มาทำให้ตัวเอกกอดกันตอนหลังเลย
แต่ที่ต้องมีทั้ง Lex และ Doomsday และ Wonder Woman และ Flash และ Aquaman และ Cyborg และฉาก Injustice เพราะหนังเรื่องนี้มีหน้าที่เป็นประตูสู่จักรวาลของ DC Cinematic ซึ่งเห็นได้อย่างชัดเจนว่ามันเป็นความรับผิดชอบที่หนักหนาเกินกว่าที่หนังเรื่องหนึ่งจะแบกรับได้ จากที่ควรจะมีต้นมีปลายกลับกลายมาเป็นความเลอะเทอะ ความเยอะ ใส่อะไรมากเกินจนกระทบเนื้อเรื่องหลัก ๆ ที่ต้องการจะเล่า
และพูดถึงการเล่าเรื่อง เราว่า Batman v Superman คืออัลบั้มภาพถ่ายที่มีภาพสวย ๆ ตลอดเรื่อง การจัดองค์ประกอบ การจัดแสง สี สไตล์สไนเดอร์อย่างที่บอกไป แต่ปัญหาคือพอจบ “ภาพ” หนึ่งแล้ว ฉากที่เหลือเหมือนกับเป็นแค่การถ่วงเวลารอภาพต่อไป มันสวยจริงแหละ แต่มันไม่ต่อเนื่อง
สุดท้ายคือ ไม่รู้ว่าเพราะความกดดันจากไตรภาคโนแลนหรือเพราะ legacy ของหนังสือการ์ตูน แต่สไนเดอร์มีความรู้สึกว่า ต่อจากนี้แบทแมนจะเป็นแค่ (ยอด) มนุษย์ธรรมดาทั่วไปไม่ได้อีกแล้ว มันต้องเป็นมากกว่านั้น ต้องเป็นสัญลักษณ์ เพราะไม่งั้นจะไม่ “สมชื่อ” แบทแมน
ส่วนจะเป็นสัญลักษณ์ของอะไรนั้น ดูเหมือนว่าทั้งสไนเดอร์ บรูซ เวย์น และคนดูก็ยังไม่ค่อยแน่ใจ
เดี๋ยวนะ ทำไมบอกว่าชอบแต่เขียนข้อเสียซะยืดยาวขนาดนี้ เราชอบจริง ๆ นะ แล้วก็จะรอดู Suicide Squad และ Justice League ต่อด้วย
53. Sing Street (2016)
Tumblr media
หลังจากที่ได้ดู Begin Again กับ Once แล้ว สถานะของ John Carney ตอนนี้คือ ทำหนังออกมาอีกกี่เรื่องก็จะตามดู
Sing Street เป็นหนังที่คิดมากก็สนุก คิดน้อยก็สนุก ที่สำคัญคือเป็นอาหารหู เพราะสำเนียงไอริชอร่อยมาก และ — แน่นอน — เพลงเพ��าะ
หนังเรื่องนี้เราว่าฉีกแนวออกจากทั้ง Begin Again และ Once พอสมควร เพราะเป็นหนังที่ maximalist อยู่หน่อย ๆ ในเชิงที่ตัวละครเยอะแยะ (แต่ไม่ยั้วเยี้ย เคมีเข้ากันได้ดี) และแนวเพลงก็หลากหลายมากขึ้น ทั้งร็อก ป๊อป อิเล็กทรอนิกส์ เร็ว ช้า มาหมด เพราะหมด ชอบสุดก็ Drive It Like You Stole It นี่แหละ สนุก ๆ เต้น ๆ 
แถมรู้สึกว่า John Carney แกเล่นจังหวะ (ของหนัง) ได้ดีขึ้น มุกบางฉากนี่ชงตบชงตบ ฉับฉับเลย ชอบมาก
ส่วนที่ดราม่าก็พอเหมาะ ไม่น้อยเกินจนคนดูไม่รู้จักตัวละคร แต่ก็ไม่มากเกินจนกินเวลาในส่วนที่สนุก ข้อขัดแย้งบางอย่าง เช่นที่โดนบาทหลวงคนนั้นรังแก ก็ถูก resolve ผ่านเพลง Brown Shoes ซึ่งเราว่าการเล่าเรื่องแบบนี้มันมีเอกลักษณ์
เอกลักษณ์อีกอย่างของหนังของ Carney คือ ถึงแม้จะเป็นหนังเกี่ยวกับเพลง แต่ก็ไม่ใช่มิวสิคัล หรือหนังเกี่ยวกับดนตรีซะทีเดียว แต่จะวนเวียนอยู่กับการแต่งเพลง การ produce เพลงหรือการอัดอัลบั้ม ซึ่งเราว่าเป็นมุมมองที่เรา (เราในที่นี้คือตัวเรา) ไม่ได้เห็นอยู่บ่อย ๆ
ติดแค่อย่างเดียว เราไม่ค่อยชอบตอนจบเท่าไหร่ เหมือนกับมันไม่อิ่ม มันเทพนิยายเกิน แถมเอฟเฟ็กต์ทะเลก็ทำได้ไม่คือ เลยทำให้หลุดออกจากอารมณ์ของหนังไปนิดนึง แต่ที่รู้ ๆ คือสำเนียงไอริชติดหูไปอีกหลายวัน
54. Midnight in Paris (2011)
Tumblr media
(รูปประกอบนี่ไม่ได้มีความสลักสำคัญอะไรต่อเนื้อเรื่องเลย เลือกมาเพราะนางเอกล้วน ๆ แอ๊)
หนังเรื่องนี้คือความจงเกลียดจงชังของ Woody Allen ต่อ “สมัยนี้” และการโหยหาอดีต โหยหาวันวานอันแสนหวาน คือการ romanticise เมืองที่ถูก romanticise มากที่สุดในโลก
เราขอแนะนำตอนนี้เลยว่า ถ้าใครยังไม่ได้ดูก็ไปดูซะ เพราะมันคือหนังที่เพ้อเจ้อและปฏิเสธความจริงของชีวิต และต่อจากนี้จะมีสปอยล์เลอร์สปอยล์เลอร์สปอยล์เลอร์
ถ้าปารีสใน Amélie กับ Before Sunset คือปารีสในสายตาของคนท้องถิ่น ปารีสใน Midnight in Paris ก็คือปารีสในสายตาของนักท่องเที่ยว คือปารีสที่มีหอไอเฟล พิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ (สะกดงี้จริง ๆ นะ...) ราชวังแวร์ซาย (ทำไมไม่ทับศัพท์ว่า แวร์ซายลส์ งง) และ อาร์กเดอทรียงฟ์ (เอ่อ...)
แต่ถามว่ามันผิดที่ผิดทางไหม ก็ไม่นะ เพราะนี่คือปารีสในสายตาของพระเอกผู้หลงไหลในความโรแมนติกของปารีส
อย่างน้อยก็ความโรแมนติกของปารีสในจินตนาการของเขาเอง
เราชอบการย้อนเวลาในหนังเรื่องนี้ มันกึ่งความฝัน กึ่งความจริง (ในโลกของหนัง) บางทีเราก็จะคิดไปว่านี่คือจินตนาการของพระเอก แต่หนังก็ตอบว่า ไม่เลย ดูอย่างฉากที่นักสืบย้อนเวลาไปโผล่ในแวร์ซายในอดีต
ส่วนสิ่งที่เราไม่ชอบคือการที่ (ในความรู้สึกเรานะ) คนเขียนบทยัดเยียดให้นางเอก (Inez เล่นโดย Rachel McAdams) นอกใจพระเอกเพื่อให้การที่พระเอกนอกใจนางเอกดูยุติธรรม ซึ่งมันไม่ใช่ นอกใจก็คือนอกใจ ผิดก็คือผิด และในกรณีนี้การกระทำของทั้งพระเอกและนางเอกก็แย่ด้วยกันทั้งคู่ มันไม่หักล้างกัน
จุดพีคของหนังอยู่ในฉากที่พระเอกกับ Adriana ย้อนเวลาจาก 1920 ไปยังปี 1890 และได้เห็นว่าเอเดรียอาน่าก็คิดว่าปี 1920 มันช่างวุ่นวายและซับซ้อน ปี 1890 ต่างหากคือยุคทอง
ตามด้วยการบรรลุว่า ไม่ว่าเราจะอยู่ในช่วงเวลาไหน เราก็อยากจะย้อนกลับไปยัง “ยุคทอง” ที่เรียบง่ายและโรแมนติกกันเรื่อยไป หากเราย้อนเวลาไปที่ปี 1890 ในไม่ช้าปี 1890 ก็จะกลายเป็นปัจจุบันของเรา
และเราเบื่อหน่ายปัจจุบันเพราะ “It’s a little unsatisfying, because life is unsatisfying.”
55. The End of the Tour (2015)
Tumblr media
เป็นหนังที่พูดถึงความอึดอัดของ “ฝีมือ” ด้านศิลปะได้ดีมาก
บ่อยครั้งที่เราเห็นงานเขียน หรือภาพวาด หรืองานศิลปะอื่น ๆ ที่เราชื่นชอบ แต่เจ้าของผลงานดันบอกว่า “ไม่หรอก งานนี้ห่วยจะตาย”
รีแอคชั่นจะแตกแขนงออกไปเป็นสิบเป็นร้อยทางทันที เจ้าของผลงานแค่ถ่อมตัวเองหรือเปล่า ไม่ภูมิใจในงานตัวเองเหรอ หรือไม่ก็ ถ้างานอย่างงี้เรียกว่าห่วย แล้วงานคนอื่นที่แย่กว่านี้คือเศษสวะเลยใช่ไหม ด้านเจ้าของผลงานก็อึดอัด เพราะจะให้พูดยังไงได้ จะบอกว่าผลงานนี้ดี ก็โดนหาว่าขี้อวด อีโก้ใหญ่คับฟ้า ถ้าบอกว่าไม่หรอก ก็กลายเป็นดูถูกคนที่งานแย่กว่าตัวเอง
ยิ่งถ้าเป็นงานศิลปะที่ผู้คนมองว่าผูกกับความสูงส่งของสติปัญญายิ่งยากเข้าไปใหญ่ พระเอก (David Foster Wallace เล่นโดย Jason Segel) พูดไว้ประมาณว่า (จำคำพูดเป๊ะ ๆ ไม่ได้) ตอนที่เขาเพิ่งเริ่มเขียน เขามักมองนักเขียนหนังสือขายดีว่าเป็นพวก sell out สังเวยตัวเองเพื่อเงิน ขายตัวให้กับความโง่เง่าของคนหมู่มาก จนกระทั่งวันหนึ่งกลายเป็นตัวเขาเองที่เป็นเจ้าของหนังสือขายดี แล้วพอถึงวันนั้นจะบอกกับตัวเองว่ายังไง
เราว่าหนังเรื่องนี้เหมือนกับนั่งฟังคนฉลาดสองคนคุยกัน และความคิดเห็นของคนหนึ่งต่ออีกคนหนึ่งก็เปลี่ยนไปเรื่อย ๆ ผ่านคำพูด เรื่องราว
แต่บางทีก็เหมือนกับว่าความสัมพันธ์ของตัวละครหลักทั้งสองคนมันดูเอียงเอน เหมือนกับว่า David Foster Wallace แสดงมิตรภาพต่อ Dave Lipsky (เล่นโดย Jesse Eisenberg) โดยการชวนคุย หรือถามกลับทั้ง ๆ ที่ตัวเองเป็นคนให้สัมภาษณ์ แต่กลับกัน Lipsky กลับมองทัวร์นี้เป็นแค่งานชิ้นหนึ่ง (ในบางเวลา) โดยหนังค่อนข้างเน้นในเรื่องนี้ อย่างการที่ Lipsky ถือเครื่องบันทึกเทปไว้ตลอดเวลา หรือการที่เขาไปสอดส่องของใช้ส่วนตัวของ Wallace ที่หนังแสดงให้เห็นบ่อย ๆ 
พูดถึง Lipsky เราไม่รู้ว่าตัวจริงเขาเป็นยังไง แต่ในหนังเราเห็นแค่ Jesse Eisenberg เล่นเป็น Jesse Eisenberg เหมือนกับที่ Jesse Eisenberg เล่นเป็น Jesse Eisenberg ในหนังทุกเรื่อง โดยเฉพาะกริยาท่าทาง การพูดบท
แค่งงว่าจะกระดิกนิ้วอะไรนักหนา ไม่เชื่อลองไปดูหนังเรื่องไหนก็ได้ที่ Jesse Eisenberg แสดง แล้วลองดูนิ้วเขาดู
56. 10 Things I Hate About You (1999)
Tumblr media
เราเชื่อว่าหนังเรื่องนี้คือความพยายามเฮือกสุดท้ายของฝั่งตะวันตกในการยื้อยุค ‘90s ไว้
เพราะทุกอย่างเกี่ยวกับหนังเรื่องนี้มัน ‘90s มาก
แล้ว Joseph Gordon-Levitt ก็เด็กมาก
แต่ก็เดินกะเผลกมาก
10 Things I Hate About You คือหนังตลกแนวไฮสคูล แบบเดียวกับ Easy A แต่เ��ิ่มความ cheesy สไตล์ ‘90 เข้าไปจนแน่น เป็นรอมคอมที่หวานเยิ้มในบางฉาก แต่ก็ไม่ทำให้เรารู้สึกอี๋แหวะ ส่วนนึงเพราะ Heath Ledger นั้นชวนเคลิ้มมาก...
...อะแฮ่ม
เราชอบที่ Kat Stratford (เล่นโดย Julia Stiles) เป็นตัวละครที่ไม่ตกอยู่ใน trope เดิม ๆ ถึงแม้ว่าตอนแรกจะดูเป็นสาวห้าวใจแข็ง ฉันจะไม่ทำตามที่ใครบอก อะไรงี้ แต่หนังก็เพิ่มมิติให้ตัวละครนี้ได้เยอะดี
 ส่วนที่ไม่ชอบก็คือการเดินเรื่องแบบยัดเยียดโดยพ่อของนางเอกที่บอกว่าถ้าคนพี่ไม่มีแฟน คนน้อง (Bianca, เล่นโดย Larisa Oleynik) ก็ห้ามมีแฟนไปด้วยซะอย่างงั้น เราเข้าใจแหละว่าหนังเรื่องนี้ดัดแปลงมาจากบทละคร The Taming of the Shrew (จริง ๆ คือเพิ่งมารู้หลังจากดูจบแล้ว) แต่ก็นั่นแหละ เราว่ามันก็ยังรู้สึกยัดเยียดอยู่ดี
...but mostly I hate the way I don’t hate this movie. Not even close, not even a little, not even at all.
57. Nightcrawler (2014)
Tumblr media
...โห
ถ้า Spotlight คือหน้ามือ คือหนังที่พูดถึงหน้าที่ของสื่อมวลชนในการนำเสนอความจริงให้กับประชาชน Nightcrawler ก็คือหลังมือที่พูดถึงด้านที่หิวกระหาย สะอิดสะเอียนน่ารังเกียจของสื่อ ที่ทำทุกอย่างเพื่อให้ได้มาซึ่งเนื้อข่าว
ทุกอย่าง
ทุกอย่างที่ว่าหมายถึงอะไรบ้าง ก็ต้องดูเองแหละ
Jake Gyllenhaal เล่นได้ดีมาก ตัวละครที่เป็นแค่เปลือกของมนุษย์ ไม่มีอารมณ์ ไม่มีชีวิต เหมือน Patrick Bateman ใน American Psycho ซึ่งเราว่าความคล้ายคลึงนี้ไม่น่าใช่เรื่องบังเอิญ
คือตัวเอกนี่เย็นชาจนน่าขนลุก ทุกย่างก้าว ทุกคำพูดมันจิต เหมือนกับเป็นแค่สิ่งมีชีวิตที่ต้องการแต่เงิน ไม่มีอะไรข้างใน เป็นแค่ นั่นแหละ เปลือก
เราว่าหนังเรื่องนี้เหมือน The Wolf of Wall Street อยู่อย่าง คือหนังไม่ได้พูดถึงชีวิตของตัวเอกในทางลบ ไม่ได้พยายามจะยัด “เรื่องนี้สอนให้รู้ว่า” ให้คนดู กลับกันด้วยซ้ำ หนังแสดงให้เห็นถึงความสำเร็จของตัวเอก ทำให้คนดูอาจจะคล้อยตามการกระทำของตัวเอกไปเรื่อย ๆ แต่พอกลับมานึกดูอีกทีว่า เฮ้ยถึงเขาจะประสบความสำเร็จ แต่เราอยากเป็นแบบนั้นเหรอ ซึ่งคำตอบก็คือไม่ ไม่มีทาง
ที่สังเกตเห็นอย่างนึงคือ หนังพยายามถ่าย Jake Gyllenhaal ให้มีดวงไฟสะท้อนในแววตาเสมอ ซึ่งดูไปก็คล้ายกับปีศาจ เราว่าเป็นภาพที่สะเทือนดี
ถ้าใครไม่ชอบภาพศพหรือแผลเหวอะหวะเราไม่แนะนำ แต่ถ้าใครโอเคกับเรื่องพวกนี้เราว่าดูเถอะ
58. Inglourious Basterds (2009)
Tumblr media
หนังของ Quentin Tarantino เรื่องแรกที่เราดูคือ Kill Bill
...ตอนสิบกว่าขวบ ซึ่ง เอ่อ ไม่น่าเลย
แต่สไตล์แบบนั้นก็ฝังใจเราเรื่อยมา ถึงแม้ตอนนั้นจะยังไม่รู้จักชื่อผู้กำกับก็ตาม เพราะหนังทุกเรื่องของ Tarantino คือจดหมายรักถึงเลือด ปลอกกระสุน และความรุนแรง และ Inglourious Basterds ก็แน่นอนว่าคือหนึ่งในนั้น
ถ้าจะให้อธิบายสั้น ๆ เราว่า Inglourious Basterds คือ Game of Thrones เวอร์ชั่นสงครามโลกครั้งที่สอง เราว่าทั้งสองเรื่องนี้ใช้ shock factor แบบเดียวกัน ปลุกรีแอคชั่นแบบเดียวกัน โดยเฉพาะการที่ตัวละครตายแบบดื้อ ๆ โมเมนต์แบบโดนยิงแล้วพูดจาส่งเสียกับเพื่อนรักห้านาทีก่อนกระอักเลือดตายงี้ไม่มี
ซึ่งในแง่หนึ่งก็สมจริง และก็อย่างที่บอกไปคือมันมี shock factor ให้คนดูอ้าปากค้าง แต่อีกแง่หนึ่งมันก็เป็นการเล่าเรื่องที่ไร้เหตุผล คือจะทำให้ตัวละครนี้เป็นตัวละครหลักทำไมถ้าอยู่ดี ๆ ก็ตายไปซะง่าย ๆ แบบนั้น
ปล. เออเพิ่งสังเกตว่าร้อยหนังเดือนนี้เริ่มและจบที่หนังล้อนาซี
0 notes
spurofmoment · 8 years
Text
ห้าสิบหนังผ่านไป
Tumblr media
(เออ พอเอารูปมาเรียงกันอย่างงี้มันดูนิดเดียวเองเนาะ)
หกเดือนผ่านไป ไวเหมือนสลอธขี่ม้า
รู้สึกว่าคิดถูก ที่เมื่อตอนต้นปีโพล่งขึ้นมากับตัวเองว่า ปีนี้เราจะดูหนังซักร้อยเรื่อง
คิดถูกเพราะ หนึ่ง เราคิดว่าเราเขียนได้ดีขึ้น คือจากที่เขียนแล้วอ่านไม่รู้เรื่อง ก็อัพเกรดเป็นพอจับใจความได้บ้าง (จากมุมมองเราเองนะ) กระบวนการขย้อนความคิดออกมาบนคีย์บอร์ดก็ง่ายขึ้น เร็วขึ้น ไม่ต้องนั่งเบ่งเหมือนเก่า ถึงตอนนี้จะยังรู้เรื่องบ้างไม่รู้เรื่องบ้างก็ตาม สังเกตง่าย ๆ ว่าเดือนมกรา แต่ละเรื่องเราเขียนสั้นนิดเดียว เพราะไม่รู้จะเขียนอะไรนอกจากชอบ ไม่ชอบ พอมาเดือนกุมภา มีนา ก็เริ่มเขียนยาวขึ้น จำได้ตอนเขียนเรื่อง Watchmen เสร็จเรางงเลยว่าทำไมเขียนยาวจังวะ พอมาเดือนหลัง ๆ นี่เขียนเสร็จแล้วต้องตัดไปอีก อย่างเรื่อง Chef นี่ตัดไปเกือบครึ่ง พล่ามเยอะเกิน
สอง เราได้ดูหนังที่อยากดูมานานแล้ว แต่ทำไมไม่ได้ดูซักทีก็ไม่รู้ นี่คือเหตุผลอันดับหนึ่งที่เริ่มร้อยหนังเลย คือแต่ก่อนเราดูหนังน้อยมาก มันเหมือนมันมีช่องว่างอยู่ในสมอง เวลาคนอื่นพูดถึงหนังเรื่องนู้นเรื่องนี้แล้วเราบื้อ ตอนนี้เวลามีใครพูดถึง Tyler Durden เราก็เข้าใจซักที พอพูดถึง Scott Pilgrim ก็รู้แล้วว่าอะไรยังไงที่ไหน แถมพวกหนังคลาสสิกอย่าง Memento, The Princess Bride, American Psycho ก็บอกได้เต็มปากว่าเราดูแล้ว! 
มันไร้สาระนะ แต่มันสำคัญกับเรา ฮ่า ๆ
สาม เราดูหนัง “เป็น”​ ขึ้น เวลามีคนแกะหนังเรื่องนึงออกมาเป็นฉาก ๆ แล้วเอามาวิเคราะห์แบบละเอียด ๆ ทั้งสี ทั้งตำแหน่งของตัวละคร มันหมายความว่ายังไง มันสื่อถึงอะไร คำพูด เอาฉากนู้นมาเทียบกับฉากนี้ มันขนานกันยังไง มันขัดแย้งกันยังไง เราว่ามันโคตรเท่ เราก็อยากลองบ้าง ก็สำเร็จบ้างไม่สำเร็จหลายบ้าง หลาย ๆ เรื่องพอเขียนเสร็จก็ไปหาบทวิเคราะห์มาอ่านว่ามันมีความหมายอะไรซ่อนอยู่ไหม
อย่างหนัง Edgar Wright นี่ foreshadowing เพียบ ถ้าอยากได้ตัวอย่างง่าย ๆ ก็ลองดูวิดีโอนี้ (อาจจะสปอยล์เล็กน้อย)
ตอนนี้เราก็ยังถือว่าหัดเขียนอยู่ ที่เขียน ๆ ไปนี่บางเรื่องก็ยังอาย ๆ กลับมาอ่านแล้วก็แบบ นี่เขียนยังงี้ไปเหรอ แต่บางเรื่องก็เขียนเองชอบเอง เพราะเขียนสนุก และหวังว่าจะอ่านสนุก อย่างที่พิมพ์สนุกที่สุดก็ Memento แหละ (เผื่อใครยังไม่เก็ท ต้องอ่านจากย่อหน้าท้ายสุดไปหาบนสุด ตามกิมมิคของหนัง)
ความยากสำหรับเราคือ หลาย ๆ ครั้งเราคิดคำอธิบายออกเป็นภาษาอังกฤษ แต่พอจะเอามาเขียนมันดันหาคำแปลไม่ถูก คือเราชอบภาษาอังกฤษเวลาใช้อธิบายนู่นนี่อะ เพราะมันมี adjective เยอะไง แล้วใช้คำ ๆ เดียวมันบอกอะไรได้เยอะดี อย่างเราคิดว่า The Lobster มัน weird มัน bizzare มัน surreal ไรงี้ แต่พอจะเขียนเป็นภาษาไทยมันก็ได้แค่แปลก แปลก และแปลก อย่างเราจะอธิบาย My Neighbor Totoro ว่ามัน whimsical ลองไปเปิดดิกดู ปรากฏมันแปลให้ว่าวิตรถาร ตาย ๆ หมดกัน โตโตโร่ฉัน
ไม่ใช่ว่าภาษาไทยไม่มีคำอธิบายดี ๆ นะ แต่โวแคปภาษาไทยเราแคบไง เลยได้แต่ใช้คำเดิม ๆ ซ้ำ ๆ (คำสุดฮิตก็มี แปลก ชอบ ความสัมพันธ์ วนเวียนอยู่แค่นี้แหละ) ช่วงหลังมานี่เลยลองอ่านบทวิจารณ์หนังภาษาไทยมั่ง รีวิวพันทิปมั่ง เผื่อจะรู้ศัพท์มากขึ้น
สุดท้ายแล้วทั้งหมดทั้งมวล ทั้งร้อยหนัง ทั้งโพสอื่น ๆ ในบล็อกนี้ เราก็ยังถือคติว่า ไม่ได้เขียนให้ใครอ่านหรอก เขียนให้ตัวเองในอนาคตกลับมาอ่าน (และกลับมาหัวเราะเยาะ) แต่ถ้าใครสละเวลามาอ่านก็ซึ้งใจ
ส่วนครึ่งหลังก็ onward and upward!
แปลไม่ถูก เย่!
0 notes
spurofmoment · 8 years
Text
ร้อยหนัง: มิถุนายน
ร้อยหนังคือปณิธานที่ตั้งไว้ตอนปีใหม่ว่าจะดูหนังให้ครบร้อยเรื่องก่อนสิ้นปี ผ่านไปเดือนนึงก็นึกได้ว่าควรเขียนบันทึกไว้
เราจะไม่สปอยล์ (แต่ถ้าไม่ได้ดูเรื่องนั้น ๆ มาก่อนอาจจะอ่านไม่เข้าใจ) ยกเว้นบางเรื่องซึ่งเราจะเตือนไว้ตัวหนา ๆ ว่ามีสปอยล์เลอร์
อ้อ อ่านร้อยหนังของเดือนก่อน ๆ ได้ที่ spurofmoment.tumblr.com/100
41. Fight Club (1999)
Tumblr media
                                                                                                                             42. Chef (2014)
Tumblr media
(ตึ่งดื่อดือดือดึ๊ง แต่ก แกร่กกกกก ภาพยนต์ต่อไปนี้เป็นภาพยนต์ทั่วไป สามารถรับชมได้ทุกวัย)
Chef ทำให้เรานึกขึ้นได้ว่า เออ โลกนี้มันยังมีหนังที่ไม่ทำให้เราหดหู่อยู่นะ
หนังเรื่องนี้เล่าถึงมนุษย์ผู้หลบหนีจากชีวิตเดิม ๆ เพื่อออกเดินทางตามความฝัน และระหว่างการเดินทางนั้นเองที่ทำให้เขามองเห็นสิ่งสำคัญในชีวิตอย่างเช่นครอบครัว
ใช่แล้ว พล็อตเหมือนกับหนังอีกห้าสิบแปดล้านเรื่องที่เล่าเรื่องเดิม ๆ ซ้ำแล้วซ้ำอีก แต่สิ่งที่ทำให้ Chef แผกออกมาจากกลุ่มกองของความจำเจเหล่านั้นคือจิตวิญญาณ
และอาหาร
ครึ่งแรกของหนังจะหนักไปทางดราม่า เป็นความกดดันของเชฟที่ถูกตีกรอบให้ทำแต่อาหารซ้ำซาก เพราะอาหารเหล่านั้นขายได้ หนำซ้ำยังถูกนักวิจารณ์ด่า จนสุดท้ายก็ปรี๊ดแตกหนีไปขายอาหารใน food truck
ฉากอาหารในครึ่งแรกถือว่าดี ดราม่าเรื่องครอบครัว เรื่องงานก็ธรรมดา ไม่มีอะไรให้อู้หูอ้าหา แต่พอมาถึงครึ่งหลังเท่านั้นแหละ
...ยิ่งน่าเบื่อเข้าไปใหญ่ นี่ชมนะ
เพราะข้อดีของหนังเรื่องนี้มันอยู่ที่ความชิลไง มันชิลมาก ๆ ชิลระดับแพลตินั่ม หลังจากพระเอกออกมาทำ food truck แล้วหนังก็ไม่มีความขัดแย้ง (conflict) อะไรอีกเลย บางอย่างที่เหมือนจะดราม่า สุดท้ายก็ไม่ดราม่า มันจบสวย ทุกคนอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุขตลอดไป
มันฟีลกู้ด และเราคิดว่านี่คือหนังฟีลกู้ดที่ฟีลกู้ดจริง ๆ
ความ meta ของ Chef อยู่ตรงที่ว่า ถ้าจะให้เทียบกับอาหาร หนังเรื่องนี้ไม่ใช่คาเวียร์ราดไข่ ไม่ใช่อาหารจากร้านที่ได้ดาวจากบริษัทขายยาง ไม่ใช่ซูชิโอโทโร่แถวสาทร แต่หนังเรื่องนี้คือแซนด์วิชคิวบาริมทะเล คือร้านก๋วยจั๊บรถเข็นที่ไปกินเพราะร้านอื่นปิดหมดแล้วแต่ก็พบว่ามันอร่อยดี อร่อยแบบไม่ต้องคิดมาก
43. Amélie (2001)
Tumblr media
เรื่องนี้มีคนแนะนำมา แล้วเราบอกปัดไปเพราะเป็นหนังภาษาฝรั่งเศส ขี้เกียจอ่านซับ
ซึ่งคิดผิดมาก เพราะชอบมาก
เราไม่รู้จะติดป้ายหนังเรื่องนี้ว่ายังไง เป็น slice of life? เป็นหนังที่ Hayao Miyazaki จะสร้างถ้าปู่แกเกิดที่ฝรั่งเศส? เป็นรอมคอมที่ส่วนรอมไม่ค่อยรอมแถมส่วนคอมก็แปลก ๆ เซอร์เรียล ๆ ? ไม่รู้ดิ
จุดอ่อนของเราอย่างนึงคือ เรามักจะชอบหนังที่ไปถ่ายทำในสถานที่ที่เราเคยไปมากเป็นพิเศษ อย่างที่เคยบอกไปแล้วคือ Skyfall หรือ Lost in Translation แต่กับ Amélie นี่จะแปลกหน่อย เพราะเราเคยไปปารีส แต่ไม่ชอบ
แต่ แต่ปารีสในสายตาของ Amélie นั้นซีเปียและใจดีและโรแมนติก ปารีสในสายตาของ Amélie คือการเอากล่องที่อัดแน่นไปด้วยความทรงจำในวัยเด็กไปคืนให้คุณลุงแปลกหน้า คือการเล่นซ่อนแอบกับพระเอกหน้าโบสถ์ Sacré-Cœur (จนเราเกือบลืมไปเลยว่าเคยโดนไถเงินหน้าโบสถ์ ตรงแถว ๆ ที่นางเอกแอบมองพระเอกผ่านตู้โทรศัพท์นั่นแหละ แก๊งโจรชักมีดเลยจ้า อา #ปารีสชีวิตดีดีที่ลงตัว)
ความพิลึกกึกกือของหนังส่วนนึงมาจากความย้อนแย้งของโทนหนัง บางตอน Amélie ก็โยนก้อนหินแฉลบน้ำเล่น แต่บางตอนเธอก็ไปถามหาผู้ชายในเซ็กซ์ช็อป บางตอน Amélie นั่งดูศิลปินวาดภาพ แต่บางตอนเธอก็บุกเข้าไปในบ้านคนอื่นแล้วเทเกลือใส่ขวดเหล้าเขา หลาย ๆ ฉากมันตัดกัน มันคอนทราสต์ Amélie เป็นเหมือนส่วนผสมแปลก ๆ ของเด็กและผู้ใหญ่ แต่ทั้งหมดที่ทำไปก็เพราะเธออยากช่วยคนอื่น
ที่พิลึกไปกว่านั้นคือภาพ หนังเรื่องนี้สีอุ่นมาก สีส้มตุ่น ๆ ทั้งเรื่อง เป็นเอกลักษณ์สุด ๆ แถมการใช้เลนส์กว��างทำให้เวลาดึงกล้องเข้าไปใกล้ตัวละครทำให้ฉากดูมีความลึก แปลกตาดี
สรุปคือ Amélie เป็นหนังเกี่ยวกับสาวน้อยบ้องแบ๊วในเมืองปารีสสีส้ม ๆ กับพื้นหลังเป็นดนตรีจากหีบเพลง
ซึ่งดี
44. Before Sunrise (1995)
45. Before Sunset (2004)
46. Before Midnight (2013)
Tumblr media Tumblr media Tumblr media
Before Trilogy คือหนังที่แนะนำยากมาก เพราะมันคือหนังไตรภาคเกี่ยวกับคนสองคนคุยกัน
...เนื้อเรื่องมีแค่นี้แหละ
แต่ความวิเศษของมันอยู่ที่บทสนทนา และพัฒนาการของตัวละครจากภาคสู่ภาค
ใน Before Sunrise เราได้เห็นพระเอกกับนางเอกเจอกันครั้งแรกบนรถไฟ ทั้งสองคนชวนกันไปเดินเล่นในกรุงเวียนนา โดยที่ในวันรุ่งขึ้นพระเอกจะต้องบินกลับอเมริกา และนางเอกจะต้องกลับปารีส แล้วทั้งสองคนก็จะไม่ได้เจอกันอีก
ระหว่างเดินเล่นทั้งสองคนก็คุยกันสารพัดเรื่อง ส่วนใหญ่จะวนเวียนอยู่กับเรื่องไกลตัวอย่างการเกิด การตาย การกลับชาติมาเกิด ความสัมพันธ์ การบอกเลิก ไปจนถึงเรื่องศาสนา สังคม จักรวาล
นางเอกพูดไว้ว่า ถ้าพระเ���้ามีจริงก็คงไม่ได้อยู่ในตัวเรา แต่คงอยู่ในความสัมพันธ์ระหว่างเรา  เหมือนจะบอกว่าการเกิดหายตายจาก ไม่ใช่ของใครแต่เป็นของความสัมพันธ์ของสองคนนั้นในคืนเดียว
ไม่รู้สิ เราอธิบายไม่ถูก เราว่าแค่นั่งฟังสองคนนี้คุยกันไปเรื่อย ๆ มันเพลินดี
เก้าปีต่อมาพระเอกกับนางเอกเจอกันอีกรอบในกรุงปารีสกับหนังเรื่องที่สอง — Before Sunset
มาคราวนี้เรารู้สึกได้ว่าตัวละครมีมิติลึกมากขึ้น มีความเป็นผู้ใหญ่ มีเรื่องต้องรับผิดชอบในชีวิต บทสนทนาก็จะเปลี่ยนมาเป็นเรื่องใกล้ตัวมากขึ้น เช่นครอบครัว เพื่อนเก่า รวมไปถึงเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อม สิทธิสตรี เห็นได้ชัดเจนว่าจากหัวข้อสนทนาแบบเพ้อฝัน ใหญ่เกินตัวกลายมาเป็นเรื่องที่จริงจัง แสดงให้เห็นการเติบโตของทั้งคู่ เราว่ามันธรรมชาติ
เวลาผ่านไปอีกเก้าปี เรากลับมาเจอสองคนนี้อีกครั้งใน Before Midnight ขอไม่สปอยล์ว่าสถานการณ์ในหนังเรื่องนี้เป็นยังไง แต่หัวข้อการสนทนาแทบไม่มีความเพ้อฝันเหลืออยู่แล้ว จากเรื่องโลกทั้งใบกลายเป็นพูดถึงแต่การงาน ครอบครัว อดีต อนาคต เหมือนตื่นจากความฝันของสองเรื่องก่อนหน้านี้มาเจอความจริงที่มันจริงมาก ๆ 
จริงจนอึดอัด
ถ้าให้เราเทียบกันสามเรื่องเราชอบ Sunset มากสุด รองลงมาคือ Sunrise ส่วน Midnight ชอบน้อยสุด
Sunrise ออกจะน่าเบื่อนิดนึงเพราะหนังเล่าถึงคนสองคนที่เราไม่รู้จัก ไม่มี connection กับตัวละครเลย แต่พอมาถึง Sunset เรารู้แล้วว่าเกิดอะไรขึ้นกับสองคนนี้ในช่วงเก้าปีที่แล้ว เรารู้ว่าทุก ๆ คำพูด ทุก ๆ สายตาการมองของทั้งสองคนมันมีอะไรอยู่เบื้องหลัง มีความลึกของตัวละคร ของอารมณ์ เก้าปีที่ผ่านมาเกิดอะไรขึ้นบ้าง ชีวิตเปลี่ยนไปยังไง และตอนนี้รู้สึกต่อกันยังไง
ส่วน Midnight ค่อนข้างจะผิดสูตรจากสองเรื่องก่อนหน้า เลยไม่ค่อยชอบ (ไม่ค่อยชอบนี่คือไม่ค่อยชอบเทียบกับ Sunrise และ Sunset นะ แต่ก็ชอบมากอยู่ดี)
หนังสามเรื่องนี้มีจุดเด่นตรงฉาก walk and talk ทำให้เห็นกริยาและปฏิกริยาของทั้งสองคนในเฟรมเดียวกัน ทำให้แต่ละคำพูด แต่ละท่าทางดูสมจริง บวก long take กับบทพูดที่ธรรมชาติจนดูเหมือน improvise โอ๊ย ชอบ
ทั้งสามเรื่องดูจะเริ่มและจบแบบไม่มีเหตุผล นึกจะจบก็ตัดจบไปซะอย่างงั้น แต่เราชอบนะ มันเป็นเหมือนหน้าต่างบานเล็ก ๆ ที่ถูกนางฟ้าในซินเดอเรลล่าเสกไว้ เราก็มองคนสองคนนี้ผ่านหน้าต่างนั้นไปเรื่อย ๆ พอถึงเที่ยงคืนหน้าต่างก็ปิดลง แล้วก็...
47. Kick-Ass (2010)
Tumblr media
บอกตามตรงว่าตอน Kick-Ass ออกมาใหม่ ๆ เราไม่เคยคิดอยากจะดูเลยซักนิด เพราะนึกว่านี่เป็นหนัง (ไม่) ตลกแนวซุปเปอร์ฮีโร่พาโรดี้แบบ Superhero Movie (ที่เคยดูนิดเดียวแล้วก็ เอ่อะ ไม่ใช่สไตล์) แต่ที่กลับมาสนใจหนังเรื่องนี้อีกครั้งเพราะชื่อ Matthew Vaughn (ผู้กำกับ Kingsman: The Secret Service และ X-Men: First Class)
อืม ไม่ผิดหวัง
Kick-Ass กับ Kingsman คล้ายกันมากในหลายจุด อย่างแรกคือทั้งคู่จะตามสูตร “ครึ่งแรก deconstruct ครึ่งหลัง reconstruct”
การ deconstruct คือการเอาสิ่งที่พบเห็นเป็นประจำ (trope) ในหนังแนวนั้น ๆ มานำเสนอแบบห้วน ๆ แล้วตั้งคำถามว่า เฮ้ย ถ้าพวกนี้มันเกิดขึ้นจริงจะเป็นยังไง เช่น trope อย่างนึงของหนังสายลับคือการที่ตัวร้ายจับพระเอกมาล่ามโซ่ในขณะที่ตัวเองพล่ามถึงแผนการครองโลกยืดยาวจนสุดท้ายพระเอกก็หนีออกมาได้ แต่ Kingsman เอา trope นั้นมากลับหัว ผลลัพท์ก็...​ “This ain’t that kinda movie”
ตัวอย่างของ deconstruction ใน Kick-Ass ก็คือการตั้งคำถามว่า ถ้าซุปเปอร์ฮีโร่มีจริง เขาเหล่านั้นจะต่อสู้ยังไง จะมาเตะต่อยหรือใช้ตะบองไหม
บ้าเหรอ ตายพอดี ใช้ปืนสิ ไรงี้
ส่วน reconstruction ก็ตรงข้ามกัน คือแทนที่จะล้อเลียน trope ก็ทำตามแทน อย่างเช่นฉากต่อสู้ใหญ่ของทั้ง Kingsman และ Kick-Ass
อีกอย่างนึงที่หนังสองเรื่องนี้คล้ายกันคือฉากต่อสู้
โอ้โห ฉากต่อสู้
เลือดสาดมาก กล้องไม่สั่น ยิงหัวตัดขาเห็นหมด มันดิบ มันรุนแรงแต่มันสะใจ
Kick-Ass คือหนังที่ภูมิใจในความรุนแรงแบบเว่อร์ ๆ เถื่อน ๆ ของตัวเอง ถ้าใครชอบฉากในโบสถ์ของ Kingsman เราแนะนำเรื่องนี้มาก ๆ สไตล์เดียวกัน
48. Like Crazy (2011)
Tumblr media
เป็นหนังที่เริ่มในประเทศอเมริกา จบในประเทศอเมริกา แต่มีความเป็นอังกฤษจ๋ามาก
สิ่งนึงที่ชอบเกี่ยวกับ Like Crazy คือการใช้ภาพเล่าเรื่องแทนคำพูด แล้วเอาคำพูดมาพัฒนาตัวละครแทน ถึงบทพูดจะไม่ดีเท่าไหร่ แต่ก็ฟังดูเป็นธรรมชาติดี
อีกอย่างคือหนังเรื่องนี้นำเสนอความอึดอัดและน่าหงุดหงิดของความสัมพันธ์ระยะไกลได้ดี ในชีวิตจริงมันไม่มีนางร้ายหรือตัวโกงที่จะเข้ามา “แย่งผัว” ใคร แต่ทุกอย่างที่เกิดขึ้นมันเกิดขึ้นเพราะมันช่วยไม่ได้ ก็ไม่ได้คุยกัน ไม่ได้เจอกัน แล้วจะให้ทำไง เจอกันทีอีกไม่กี่วันก็ต้องจากกันไปอีก อะไรจะเกิดมันก็ช่วยไม่ได้จริงไหม
เพราะฉะนั้นหนังไม่ได้เล่าถึง Sam หรือ Simon ในทางร้ายเลย กลับกันฝ่าย Jacob กับ Anna มากกว่าที่เป็นตัวร้ายในเรื่องของตัวเอง
ส่วนด้านที่ไม่ชอบคือมุมกล้อง เราเข้าใจว่าหนังจงใจให้เฟรมมิ่งพระเอกกับนางเอกแยกกันในหลาย ๆ ฉาก หรือพยายามบีบเฟรมให้แน่น ให้อึดอัด แต่เราว่าบางทีมันก็มากไปจนบางทีปิดหน้านักแสดงซะมิด จะเอาอะไรมาบังกล้องนักหนา
ตอนจบของหนังนั้นดู ๆ ไปก็เหมือนแฮปปี้เอนดิ้ง กลิ่นเหมือนแฮปปี้เอนดิ้ง รสชาติเหมือนแฮปปี้เอนดิ้ง แต่ทำไมในความรู้สึกมันเป็นอึดอัดเอนดิ้ง
(Rest in peace, Anton Yelchin.)
49. My Neighbor Totoro (1988)
Tumblr media
เข้าใจถ่องแท้เลยว่าทำไมมีแต่คนบอกว่า A Letter to Momo มันละม้ายคล้ายคลึงกับหนังเรื่องนี้เหลือเกิน
ยิ่งกว่านั้น เราว่าหนังเรื่องนี้เหมือน Alice in Wonderland มาก (หนังสือนะไม่ใช่หนังทิมเบอร์ตัน) เรื่องราวของเด็กหญิงผู้หลบหนีความจริง กระโดดลงหลุมไปเจอดินแดนมหัศจรรย์
แถมถ้าโตโตโร่ยิ้มกว้าง ๆ หน่อยก็แมวหลอนดี ๆ นี่เอง
โดยทั่วไปแล้วหนังของ Ghibli ไม่ใช่หนังที่ทำมาสำหรับเด็ก แต่เป็นหนังที่ทำมาสำหรับทุกคน รวมถึงเด็กด้วย หนังเรื่องนี้ก็ไม่ต่างกัน ถึงเนื้อเรื่องจะเรียบง่าย ถึงเนื้อหาและการออกแบบจะชวนเพ้อฝัน แต่หนังก็แอบเก็บความเศร้าโศกไว้อย่างมิดชิด เหมือนกับตัวกลม ๆ ดำ ๆ มีลูกตา (เรียกไม่ถูก) นั่นแหละ เรารู้ว่าหนังเรื่องนี้เศร้า แต่หลายครั้งหนังจะไม่ยอมบอกเราตรง ๆ เรารู้ว่ามีตัวกลมขนฟูอยู่ในห้องใต้หลังคา แต่พอเปิดขึ้นไปดูมันก็พากันหนีไปแอบหมด
My Neighbor Totoro ชวนให้เรามองโลกผ่านสายตาของเด็ก ให้เรามองความพิศวง การจากลา และการผจญภัยผ่านสายตาที่ (ยัง) สดใส
อ้อ แล้วก็ฉากรถบัสแมวนั่นสุดยอดมาก
50. The Darjeeling Limited (2007)
Tumblr media
ฉากแรก ๆ ของ The Darjeeling Limited เรานึกว่าดูผิดเรื่อง เพราะกล้องไม่ทำมุมฉากกับพื้นหลัง กล้องสั่นตอนดอลลี่ แถมความสมมาตรในฉากแทบไม่มี นี่ Wes Anderson ตัวจริงหายไปไหน แล้วเอาใครมากำกับ! (แต่พอขึ้นรถไฟแล้วสไตล์เดิม ๆ ก็กลับมา เฮ่อ ค่อยยังชั่ว)
หนังเรื่องนี้ว่าด้วยการท่องเที่ยวของชายชาวอเมริกันสามพี่น้อง ซึ่งระหว่างการท่องเที่ยว แต่ละคนก็ได้เรียนรู้อะไรบางอย่างเกี่ยวกับความสำคัญของคนรอบข้าง
โดยมีฉากหลังเป็นชนบทของอินเดีย และกลิ่นเครื่องเทศทะลุจอ
ถึงตอนนี้เราก็ไม่รู้จะเขียนถึงอะไรแล้วนอกจากว่านี่คือหนัง Wes Anderson ทุกอย่างทั้งมุมกล้อง blocking บทพูด เสื้อผ้า โทนสีมันถูกอธิบายได้ด้วยชื่อผู้กำกับหมดแล้ว
ที่น่าชื่นชมคือ เราไม่คิดว่าจะมีใคร romanticise ประเทศอินเดียให้เราอินได้ แต่เฮ้ย หนังเรื่องนี้ทำได้ (แต่เอาจริง ๆ ก็ยังไม่อยากไปอยู่ดี เกรงว่าอาหารที่นั่นจะไปรบกวนสันติภาพในลำไส้)
ถ้าจะให้เทียบกับหนัง Wes Anderson เรื่องอื่น เราออกจะแพ้หนังแนวเดินทางท่องเที่ยวหนีความจริง (escapism) มากกว่าแนวอื่น ๆ เลยจัดอันดับให้สูงกว่า Moonrise Kingdom หน่อยนึงละกัน
ก็นั่นแหละ เรายังไม่เบื่อสไตล์นี้ สถานีต่อไป The Life Aquatic สินะ 
0 notes
spurofmoment · 8 years
Text
ร้อยหนัง: พฤษภาคม
ร้อยหนังคือปณิธานที่ตั้งไว้ตอนปีใหม่ว่าจะดูหนังให้ครบร้อยเรื่องก่อนสิ้นปี ผ่านไปเดือนนึงก็นึกได้ว่าควรเขียนบันทึกไว้
เราจะไม่สปอยล์ (แต่ถ้าไม่ได้ดูเรื่องนั้น ๆ มาก่อนอาจจะอ่านไม่เข้าใจ) ยกเว้นบางเรื่องซึ่งเราจะเตือนไว้ตัวหนา ๆ ว่ามีสปอยล์เลอร์
อ้อ อ่านร้อยหนังของเดือนก่อน ๆ ได้ที่ spurofmoment.tumblr.com/100
34. Eternal Sunshine of the Spotless Mind (2004)
Tumblr media
ตั้งแต่เริ่มดู/เขียนร้อยหนังมา เรามีวิธีจัดอันดับหนังคร่าว ๆ ได้ประมาณนี้: หนังที่กากจนไม่อยากกลับไปดูอีก หนังที่ไม่ได้ดีเลิศแต่ถ้าเปิดเจอก็คงดู หนังที่ดีจนอยากดูอีกหลาย ๆ รอบ และหนังที่พลังสูงและทำให้เครียดจนไม่อยากกลับไปดูอีก
ประเภทหลังสุดประกอบไปด้วยหนังอย่าง Spotlight, Room และ – ล่าสุด – Eternal Sunshine of the Spotless Mind
Eternal Sunshine ฯ เป็นเหมือนส่วนผสมแปลก ๆ ระหว่าง 500 Days of Summer กับ Memento ตบด้วยความเซอร์เรียลประมาณสามช้อนโต๊ะ
ที่บอกว่ามี 500 Days of Summer ผสมอยู่ด้วยเพราะวิธีการเล่าเรื่องแบบตัดไปตัดมาระหว่างช่วงเวลาตั้งแต่ต้นจนจบความสัมพันธ์ของคนสองคน (เพิ่มนิดนึงว่าเทคนิกการตัดไปตัดมาเนียนกว่า 500 Days แต่เราว่า 500 Days ดูรู้เรื่องกว่า ว่าตอนตัดนั้นตัดไปที่ช่วงไหนของ timeline) และทั้งสองเรื่องก็เล่าถึงวงจรของความสัมพันธ์ การตกหลุมรัก การตีสนิท การเดท การอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข การอยู่ด้วยกันอย่างไม่มีความสุข จุดแตกหัก การเลิกรา
แล้วก็กลับมานับหนึ่งใหม่
ในกรณีของ 500 Days นั้นมี Autumn มานับหนึ่งใหม่ ส่วนใน Eternal Sunshine หลังจากเลิกกับ Clementine พระเอกก็ได้พบเจอกับ... Clementine
และเราว่าการที่ Clementine เปลี่ยนสีผมไปเรื่อย ๆ เหมือนกับที่เธอเป็นคนใหม่ในสายตาพระเอก ก็เป็นสัญลักษณ์ที่ดี
บางคนมองว่า Eternal Sunshine เป็นหนังอกหัก บางคนมองว่าเป็นหนังเกี่ยวกับความหวังและการเริ่มต้นใหม่ และทั้งสองมุมนี้มีสิ่งที่เหมือนกันคือมันชี้ให้เห็นถึงซาดิสม์ของความรัก ว่ามันเจ็บแต่มันไม่จบ ว่ามันต้องโดนแทงซ้ำ ๆ แต่ก็ยังกระเสือกกระสนต่อ
เพราะไม่งั้นทางเลือกที่เหลือคือการลืม
และหนังก็แสดงให้เห็นว่าถ้าเราลืมคน ๆ หนึ่งไป เราจะเสียส่วนหนึ่งของตัวเราเองไปด้วย
แล้วพอรู้ตัวอีกที เราก็ลืมไปแล้วว่าเพลง Oh My Darling, Clementine ร้องยังไง
35. Star Wars: Episode VII – The Force Awakens (2015)
Tumblr media
เรื่องนี้เพิ่งนึกได้ว่าดูแล้ว ขี้เกียจกลับไปแก้ตัวเลข เลยเอามาใส่เดือนนี้ละกัน...
ก่อนอื่นเลยต้องบอกว่า Episode VII เป็น Star Wars เรื่องแรกที่เราเคยดู
เราไม่ได้โตมากับ Episode I, II, III เราไม่เคยกลับไปดู Episode IV, V, VI เราไม่รู้ว่าทำไมคนถึงชอบ Chewie หรือเกลียด Jar Jar มันเป็นเหมือนช่องโหว่ในวัยเด็กที่ถูกเติมเต็มแบบลวก ๆ โดย reference ในอินเทอร์เน็ต ซึ่งมีเยอะซะจนรู้เรื่องสำคัญ ๆ เกือบหมดแล้ว
พอได้ยินว่า Episode VII มีอะไรหลาย ๆ อย่างคล้ายคลึงกับ IV (A New Hope) จนเรียกได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นใหม่สำหรับเด็กสมัยนี้ให้ได้รู้จักกับ Star Wars
เราเลยขอเนียนเป็นเด็กสมัยนี้ไปด้วย
เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราจะเขียนทั้งหมดนี้จะมาจากสายตาของคนที่ไม่มีความรู้อะไรเกี่ยวกับเรื่องก่อน ๆ เลย
และในสายตาของคนที่ไม่มีความรู้อะไรเกี่ยวกับเรื่องก่อน ๆ เลย เราว่าหนังเรื่องนี้สนุกดี
คือเราว่าด้าน CGI หนังเรื่องนี้มันมีความพิเศษตรงที่หนังต้องการจะคงสไตล์จากเรื่องก่อน ๆ ไว้ เพราะนี่เป็นภาคคต่อไม่ใช่ reboot เหมือน Star Trek เพราะฉะนั้นพวก visual style มันจะออกแนวโบราณ ๆ นิดนึง ยิ่งพวกฉากในอวกาศ ถ้าลองเทียบกับ แบบ Interstellar ดูจะเห็นว่าสไตล์มันต่างกัน
ที่เราไม่ค่อยเข้าใจคือคนที่แสดงเป็น Kylo Ren... ไม่แน่ใจว่าเป็นเพราะนักแสดงหรือตัวละครที่เขียนมาอย่างงั้น แต่รู้สึกว่าไคโลเป็นตัวร้ายที่ไม่น่ากลัวเอาซะเลย ขนาดบางฉากที่แสดงให้เห็นว่าไคโลใช้ Force ได้ดี แต่เหมือนกับแกขาดพลัง เหมือนเป็นเด็กน้อยเหวี่ยงของเล่นทิ้ง ไม่รู้สิ อาจจะต้องรอภาคต่อ ๆ ไปมาอธิบาย
นอกจากที่บอกไป เราก็ชอบทุกอย่าง ตั้งแต่เสียง นักแสดง (คนอื่น ๆ (เรย์)) บทพูด จังหวะการเดินเรื่อง
เราไม่ใช่สาวก Star Wars และหลังจากดู The Force Awakens ก็ยังคงไม่ใช่สาวกเหมือนเดิม แต่พอ Rogue One ออก เราก็คงไปดู
36. The Princess Bride (1987)
Tumblr media
The Princess Bride ตือหนังคัลท์คลาสสิกขวัญใจหลาย ๆ คน ด้วยวลีที่ถูก reference อยู่บ่อย ๆ เช่น “Inconceivable!”, “You keep using that word; I don’t think it means what you think it means.” และ “Hello. My name is Inigo Montoya. You killed my father. Prepare to die!”
เรารู้จักหนังเรื่องนี้ครั้งแรกจาก How I Met Your Mother
หนังเรื่องนี้ออกฉายในปี 1987 แต่ก็ดูไม่โบราณอย่างที่คิด ทั้งเอฟเฟ็กต์ บทพูด การแสดงอะไรงี้ก็ไม่ชีสเยิ้ม ส่วนนึงคงเป็นเพราะมันเป็นหนังตลกด้วยแหละ
และความตลกของหนังเรื่องนี้ หลายครั้งก็มาจากการ deconstruction ของทั้งหนังแอ๊คชั่นและเทพนิยายไปพร้อม ๆ กัน เช่นฉากที่ Inigo Montoya เจอ Count Rugen แล้ว Rugen ก็วิ่งหนีไปอย่างไร้ความเท่ ต่างจากที่ตัวโกงควรจะเป็น
ชอบตรงที่ตัวละครหลัก ๆ ก็มีความตื้นลึกหนาบาง มีอดีต มีแรงจูงใจ ไม่ใช่แค่ “ฉันเป็นพระเอก ฉันต้องขี่ม้าขาวไปช่วยเจ้าหญิง” หรือ “โอ้ไม่นะ ฉันเป็นเจ้าหญิง ฉันถูกจองจำอยู่ในหอคอยใครก็ได้ช่วยฉันที”
เราไม่คิดว่าหนังเรื่องนี้อยู่ใน top 5 หรือ top 10 (หรือแม้แต่ top 20) แต่เราว่านี่คือหนังที่ดูแล้วสนุก
ก็พอแล้วมั้ง
37. Fantastic Mr. Fox (2009)
Tumblr media
ก่อนอื่นเลย เพลงเพราะมาก! แนวเพลงเหมือนจะไม่เข้ากับเรื่องแต่ก็เข้ากันแบบแปลก ๆ 
คือหนัง/หนังสือ/เกม/อะไรก็ตามที่มีการเล่าเรื่องแนวนิทาน ๆ เนี่ยมันเป็นแนวที่เราชอบอยู่แล้ว และเราว่า Fantastic Mr. Fox ทำออกมาได้ดี การเล่าเรื่องแบบง่าย ๆ แต่แฝงข้อคิด หลาย ๆ ฉากก็ตรงไปตรงมา แต่ดูแล้วก็สะดุดตรงสัญลักษณ์หลายอย่างที่หนังวางเอาไว้ อย่างตอนต้นเรื่องที่ตัวเอกสัญญาว่าจะเลิกลักขโมยหลังจากรู้ว่าเขากำลังจะมีลูก ฉากนั้นทั้งพระเอกและนางเอกอยู่ในกรง (เหมือนกับที่พระเอกเห็นว่าการทำงาน (สุจริต) และการมีครอบครัวนั้นเป็นกรง) หรือธีมที่ใหญ่กว่านั้น คือการเติบโตและการบาลานซ์ความรับผิดชอบและความ “บ้าคลั่ง”​ (wild – อย่างที่ Mr. Fox ชอบพูดอยู่บ่อย ๆ )
ส่วนเรื่องภาพ โห ภาพสวยมาก เป็น stop motion ที่อลังการที่สุดเท่าที่เคยเห็น รายละเอียดในแต่ละฉาก ความลื่นไหล บางตอนนี่ถึงกับสับสนว่านี่ stop motion หรือคอมพิวเตอร์แอนิเมชั่น แล้วพอมาบวกกับการกำกับภาพสไตล์ Wes Anderson แล้วยิ่งเป็นเอกลักษณ์ มีหลายฉากที่ช็อตตั้งต้นเป็นสมมาตรแบบนึง แล้วผ่านไปซักพักก็ซูมเข้า กลายเป็นสมมาตรอีกแบบนึง โหย ชอบ
ถ้าจะให้จัดอันดับหนัง Wes Anderson เรายกให้เรื่องนี้อันดับหนึ่งเลย ส่วน The Grand Budapest Hotel ตามมาติด ๆ แล้วอันดับสามคือ Moonrise Kingdom (ซึ่งชอบมากเหมือนกัน แต่มันชอบทุกเรื่องเลย วุ้ย เลือกไม่ถูก)
ที่รู้ ๆ คือเรายังไม่เบื่อหนัง Wes Anderson และคงไล่ย้อนดูหนังของเฮียแกไปเรื่อย ๆ
38. A Beautiful Mind (2001)
Tumblr media
ก่อนดูหนังเรื่องนี้เราคิดว่า A Beautiful Mind เป็นหนังชีวประวัติของ John Nash นักคณิตศาสตร์ผู้บุกเบิกทฤษฎีเกม ในสไตล์เดียวกับที่ The Imitation Game เป็นหนังชีวประวัติของ Alan Turing หรือ The Theory of Everything เป็นหนังชีวประวัติของ Stephen Hawking
...แต่เราคิดผิด
และรู้ว่าคิดผิดตั้งแต่ฉาก “หักมุม” นั้นเป็นต้นไป (ที่ติดอัญประกาศไว้ตรง “หักมุม” เพราะฉากนั้นสร้างจากเรื่องจริง ถ้าใครที่รู้อยู่แล้วอาจจะไม่เซอร์ไพรส์มาก แต่ใครที่ยังไม่รู้  – เช่นเรา – อาจจะถึงกับอ้าปากเหวอ)
เพราะฉะนั้นถ้าใครยังไม่ได้ดูก็ข้ามไปอ่านเรื่องต่อไปนะ ต่อจากนี้มีสปอยล์เลอร์นะ
โอเคนะ? โอเค
ฉากที่เราพูดถึงก็คือฉากที่พระเอก นางเอก และคนดู รู้ว่า Nash นั้นป่วยเป็นโรคจิตเภท (schizophrenia) และมีอาการหวาดระแวง (paranoia) รวมถึงเห็นภาพหลอน
หนังเปิดเผยว่า Parcher, Charles และหลานสาวของ Charles นั้นเป็นแค่เศษส่วนของจินตนาการของแนช และคนดูก็ได้เห็นว่าโลกของแนชนั้นพังโครมลงมาอย่างรวดเร็ว จากสายลับอเมริกันที่พยายามแกะรหัสการยักยอกอาวุธนิวเคลียร์เข้าประเทศ กลายเป็นผู้ป่วยทางจิตที่ต้องรักษาด้วยการฉีดอินซูลิน (Insulin Shock Therapy) ชักดิ้นชักงออาทิตย์ละห้าครั้ง และเราว่าหนังเล่าเรื่องนี้ได้ดีมาก ทั้งความแตกต่างของสี (ฉาก paranoia ของแนชจะมืด และเริ่มมืดลงเรื่อย ๆ จนมาไคลแมกซ์ที่โรงพยาบาล แล้วตัดกลายเป็นสีขาวสว่าง มีแค่ Alicia คนเดียวที่ใส่เสื้อสีดำ เหมือนกับบอกว่าอลิเชียเป็นสิ่งเดียวที่เหลืออยู่หลังโลกของเขากลายเป็นแค่ภาพในหัว) ทั้งเสียงดนตรี หนังไม่ใส่ flashback ไปถึงฉาก foreshadowing ก่อนหน้านี้ (เช่นฉากที่พาร์เชอร์เดินออกไปหลังตึก แล้วเพื่อนร่วมงานโผล่ออกมาถาม แต่เพื่อนร่วมงานไม่ได้หันไปดูพาร์เชอร์) เพราะมันไม่จำเป็น เพราะคนดูนี่แหละจะเป็นคน flashback ไปเอง
พูดถึง foreshadowing ก็มีหลายฉากเหมือนกันที่ใบ้ให้เราเห็นแล้วว่านี่มันไม่ใช่เรื่องจริง อย่างเช่นตอนที่พาร์เชอร์ใส่รหัสผ่านประตูลงไปในแขนของแนช ในยุคนั้นไม่มีเทคโนโลยีอย่างงั้นแน่ หรือตอนที่แนชส่งงานวิจัยให้อาจารที่ Princeton ดู ชารลส์ไม่มีทางมายืนตรงประตูแน่ และหลังจากที่เรารู้ว่าแนชนั้นมีอาการหวาดระแวง คนดูก็คอยระแวงไปด้วยว่าต่อจากนี้อะไรจริงอะไรปลอมกันแน่ คือหนังเล่นกับ suspension of disbelief ของคนดูในครึ่งแรก แล้วมาทรยศความรู้สึกนั้นในครึ่งหลัง แล้วผลลัพท์มันออกมาดีมาก ชอบ
39. Zootopia (2016)
Tumblr media
ชื่นชมความกล้าของดิสนี่ย์ที่ทำหนังเรื่องนี้ขึ้นมา
ปกติแล้วเราจะไม่ค่อยอยากพูดเรื่องการเหยียดผิว/เหยียดเพศเท่าไหร่ เพราะกลัวว่าจะพูดอะไรผิดแล้วไปทำให้ใครไม่พอใจเข้า ครั้นจะมานั่งตรวจทีละประโยคว่าประโยคนี้เราเขียนชัดไหม และคนอ่านจะตีความเป็นอย่างอื่นไหม ก็เสียเวลาเกินไป (แต่ไม่ได้บอกว่าการ discuss เรื่องนี้เป็นการเสียเวลานะ  – เห็นไหม ต้องมานั่งจับผิดตัวเองอย่างเงี้ย) แต่กับหนังเรื่องนี้เราจะลองเขียนดู
ขอเริ่มด้วยสิ่งที่ไม่ชอบละกัน คือการสร้างหนังเกี่ยวกับ discrimination แล้วต้องการให้หนังมันตลกเนี่ย เราว่าหนังต้องระวังอย่างสูงสุดไม่ให้มีมุกเกี่ยวกับ discrimination ซึ่งโดยรวมแล้วก็ทำได้ดี แต่มาติดตรงที่สัตว์บางตัว เช่นสกังก์ สล็อต ที่สุดท้ายก็เป็นแค่ตัวตลก เพราะเกิดมาตัวเหม็นหรือช้า ถึงแม้ว่าเหล่าสล็อตดูจะไม่เดือดร้อนกับ discrimination เหล่านั้นก็ตาม
อีกอย่างที่ไม่ชอบคือ pop culture reference ทั้งเรื่อง ข้อเสียของ pop culture reference พวกนี้คือมันทำให้หนังเก่าเร็ว ลองนึกดูว่าถ้าอีกห้าปีเรากลับมาดูหนังเรื่องนี้เราจะงงกับ reference ของ Breaking Bad หรือเปล่า ไม่รู้สิ เราว่ามันทำให้หนังไม่คลาสสิก
แต่นอกจากที่บอกไปนั้นเราชอบหนังเรื่องนี้มาก ภาพสวย รายละเอียดเยอะ แอนิเมชั่นดี ตัวละครหลากหลาย และมีชีวิตชีวา มุกตลกทั้งคำพูด ทั้ง visual comedy
ด้านเนื้อเรื่องและสิ่งที่หนังต้องการจะสื่อ เราว่าหนังสื่อออกมาได้ชัดเจน ชัดเจนในโลกของหนัง แต่พอเอามาแปลงเป็น “เรื่องนี้สอนให้รู้ว่า” มันก็ออกจะแปลก ๆ หน่อย เพราะหนังชี้ให้เห็นถึงการเหยียดชนชาติในสังคม แต่ไม่ได้เสนอว่าสิ่งเหล่านี้ไม่ควรเกิดขึ้น เพราะยังไง “ผู้ล่า” ก็ยังคงเป็น “ผู้ล่า” หรือเปล่า แล้วถ้าเราเป็นกระต่ายเราควรจะพกสเปรย์ไล่หมาจิ้งจอกหรือเปล่า เหล่านี้คือสิ่งที่หนังยกขึ้นมาถาม แต่ไม่ยอมตอบ
Zootopia คือหนังที่ตะโกนบอกทุกคนว่ามีเปลือกกล้วยอยู่บนทางเดิน แต่ก็ไม่ได้เก็บไปทิ้ง ถึงจะไม่ได้แก้ปัญหาโดยตรง อย่างน้อยก็อาจจะช่วยเด็กคนหนึ่งไม่ให้ลื่นล้ม
40. Forgetting Sarah Marshall (2008) (ดูไม่จบ)
ตอนที่เราเขียนเกี่ยวกับ Easy A เราเคยบอกว่าไม่ชอบหนังตลกฝรั่งส่วนใหญ่ นี่คือตัวอย่างของหนังแบบนั้น มันไม่ถูกจริตเรา
เราไม่ได้ไม่ชอบหนังตลกไร้สาระ เราไม่ได้ไม่ชอบหนังที่มีฉากโป๊เปลือย แต่หนังที่เอาฉากแบบนั้นมาใช้เป็นมุกแบบตื้น ๆ แค่ว่า คน -> แก้ผ้า -> ตลก แล้วไม่มีอะไรมากกว่านั้น เราไม่ชอบ
ปกติเราจะให้โอกาสหนังมากกว่านี้ มีหนังหลายเรื่องที่เราไม่ชอบช่วงแรก ๆ แต่โดยรวมกลับชอบ แต่กับ Forgetting Sarah Marshall เท่าที่ดู (ยอมรับว่าดูนิดเดียว) เราไม่คิดว่าถ้าดูต่อแล้วจะชอบขึ้นมา
วันหลังอาจจะกลับมาดูอีกรอบ แต่ครั้งนี้ขอผ่าน
40. Spectre (2015)
Tumblr media
หนังเรื่องนี้มาพร้อมคำแนะนำสั้น ๆ ว่า “ภาพสวย แต่เนื้อเรื่องอย่าสนใจมาก”
หลังดูจบ ถ้าจะให้เราแนะนำหนังเรื่องนี้ให้คนอื่น เราก็คงพูดแบบเดียวกัน
ภาพสวยในที่นี้หมายถึงสถานที่ถ่ายทำสวย ในแง่นี้เราจะชอบ Skyfall เป็นพิเศษ เพราะไปถ่ายที่ Glen Coe ประเทศสก็อตแลนด์ เราเคยไปและมันสวยมาก พอมาถึง Spectre ไปถ่ายทำที่ Lake Altaussee และเมือง Sölden ประเทศออสเตรีย (ฉากภูเขาหิมะ) หรือฉากทะเลทรายที่โมร็อคโก รวม ๆ แล้วอลังการกว่า Skyfall โขอยู่
ตามที่เรามองนะ หนังที่มีฉากธรรมชาติสวย ๆ อย่างงี้แบ่งได้เป็นสองแบบ แบบแรกคือหนังที่เอาเรื่องไปเสริมฉาก เช่น The Sound of Music กับฉากขุนเขาแห่งออสเตรีย, The Secret Life of Walter Mitty ที่ทำเอาแต่ละคนอยากจะเดินออกจากโรงแล้วจองตั๋วบินไปไอซ์แลนด์เดี๋ยวนั้นเลย หรืออีกแบบคือหนังที่เอาฉากมาเสริมเรื่อง เช่น Spectre
เหมือนกับแบบ โอเค ฉากนี้นะ เจมส์ บอนด์ขับเครื่องบินไล่ผู้ร้ายอย่างงี้ ๆ แล้วเผอิญข้างหลังมันดันมีภูเขาหิมะสวย ๆ พอดี แต่ไม่ใช่ว่าการเอาฉากมาเสริมเรื่องอย่างงี้มันแย่กว่าอีกแบบ ไม่ใช่นะ เราแค่คิดว่ามันมีพลังน้อยกว่า พอมีแค่ establishing shot ตามด้วยฉากแอ๊คชั่น แป๊บ ๆ ตัดไปประเทศอื่นละ อาหารตาแบบนี้มันอร่อยนะ แต่มันไม่อิ่ม
ส่วนเนื้อเรื่องก็ไม่หวังอะไรมาก หนังเจมส์ บอนด์นี่เหมือนกับไปซื้อของแล้วมีรายการของที่ต้องซื้อจดใส่กระดาษไว้ แล้วติ๊กออกทีละอย่างน่ะ
“Bond. James Bond” ติ๊ก “shaken, not stirred” ติ๊ก ฉากตัวร้ายจับบอนด์มาขังไว้แล้วทรมานด้วยวิธีที่ซับซ้อนเกินเหตุ แล้วสุดท้ายบอนด์ก็หนีออกมาได้ ติ๊ก
มันซ้ำซาก แต่ถ้าไม่ซ้ำซากอย่างงี้มันก็ไม่ใช่หนังเจมส์ บอนด์น่ะนะ
อีกอย่างคือชอบการแสดงของ Andrew Scott (ที่เล่นเป็น Max/C) อะ มันมอริอาตี๊มอริอาตี้
0 notes